fbpx

เที่ยวเมืองน่าน : พระธาตุแช่แห้ง

เที่ยวเมืองน่าน : พระธาตุแช่แห้ง

วัดพระธาตุแช่แห้ง (พระธาตุประจำปีเกิดปีเถาะ) พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดน่าน เดิมเป็นวัดราษฎร์ องค์พระธาตุเป็นที่ประดิษฐาน พระเกศาธาตุและ พระบรมธาตุข้อพระหัตถ์ข้างซ้าย ตั้งอยู่บนเนินเขาลูกเตี้ย ๆ เป็นสีทอง สามารถมองเห็นได้แต่ไกล สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์ของความรักและความสัมพันธ์ ระหว่างเมืองน่านกับเมืองสุโขทัยในอดีต รูปแบบขององค์พระเจดีย์เป็นแบบล้านนาได้รับอิทธิพลจากเจดีย์พระธาตุหริภุญไชย ผสมกับศิลปะพม่า ใช้แผ่นทองเหลืองบุรอบฐาน แล้วลงรักปิดทอง ตัวพระธาตุ ตั้งอยู่บนเชิงเนินปูด้วยอิฐลาดขึ้นไปยังยอดเนิน กว้างประมาณ 20 วา มีบันไดขนาบทั้งสองข้าง

วิหารหลวงอยู่ทางทิศใต้ขององค์พระธาตุ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ลักษณะของวิหารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าสี่ด้าน ที่ประตูทางเข้าด้านหน้ามีปูนปั้นรูปสิงห์สองตัวตามแบบศิลปะพม่า เหนือกรอบประตูด้านหน้าและหลังประดับลายปูนปั้นเป็นรูปนาคเกี่ยวกระหวัดกันแปดตัว หลังคาทรงจั่วซ้อนลดหลั่นสามชั้นตามแบบล้านนา ที่น่าสนใจคือ ตรงกลางสันหลังคาทำเป็นส่วนหางของนาคสองตัวเกี่ยวกระหวัดกันขึ้นไปเป็นสามชั้น เป็นศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากล้านช้างที่งดงามและหาดูได้ยากในปัจจุบัน

wat_phratadcharehang_07

ในพงศาวดารเมืองน่าน เล่าว่า ในสมัยเจ้าพระยาการเมือง ครองเมืองน่านอยู่ ก็ได้มี พระยาโสปัตตกันทิ เจ้าเมืองสุโขทัย ได้มาเชิญพระยาการเมือง ไปสร้างวัดหลวงอุทัยถึงสุโขทัย ซึ่งพระยาการเมืองก็ไปช่วย จนเสร็จสมบูรณ์ ด้วยความดีความชอบ ที่พระยาการเมือง ได้ช่วยพระยาโสปัตกันทิ สร้างวัดหลวงอุทัย ทำให้พระยาโสปัตกันทิ มีความชื่นชอบพระยาการเมืองเป็นอันมาก ก่อนจะกลับเมืองน่าน ก็ได้มอบพระธาตุเจ้า 7 องค์ เพื่อตอบแทนที่พระยาการเมือง ได้มาสร้างคุณงามความดีให้แก่สุโขทัย

ดังวรรณพระธาตุเจ้า 7 องค์นั้น คล้ายเมล็ดพรรณผักกาด มีวรรณดังแก้ว 3 องค์ วรรณดังมุก 2 องค์ วรรณะทองเท่าเมล็ดงาดำ 2 องค์ , พร้อมพระพิมพ์ทองคำ 20 องค์ พระพิมพ์เงิน 20 องค์ พระยาการเมืองนั้น เมื่อได้ของวิเศษด้วยความชื่นชมโสมนัส แล้วก็นำกลับมาแสดงแก่มหาเถรเจ้า ที่เมืองปัว ด้วยความชื่นชมโสมนัส แล้วถามพระมหาเจรเจ้าว่า ควรเอาประจุธาตุนี้ไว้ที่ใด?

เมื่อพระมหาเถรเจ้าพิจารณาดูที่ควรประจุธาตุนั้นแล้ว ก็กล่าวว่า “ควรเอาไปประจุไว้ที่ดอยภูเพียงแช่แห้ง ตรงที่ระหว่างกลางแม่น้ำเตี๋ยน และแม่น้ำลิง จึงจะเห็นสมควร เพราะภายภาคหน้า แผ่นดินนี้จะเป็นผืนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นแผ่นดินที่เจริญสืบไป”....

เมื่อทราบดังนั้น พระยาการเมือง ก็ประกาศป่าวร้อง พสกนิกร และเหล่าเสนาอำมาตย์ พร้อมนิมนต์มหาเถรเจ้าลงไปด้วย มีการแห่นำเอา พระบรมธาตุเจ้ามาจากเมืองปัว มีดนตรีห้าจำพวกคือ ปี่ ฆ้อง กลองยาว ฉาบ และพิณ แห่เอาพระบรมธาตุเจ้าที่ได้ เดินทางไปตามลำน้ำน่านลงไปที่ภูเพียงแช่แห้ง การเดินทางครั้งนั้น ว่ากันว่า เป็นการเดินทางด้วยทางน้ำ เป็นขบวนแพ ซึ่งในขบวนแพเสด็จครั้งนี้ มีชายหญิงคู่หนึ่ง ชื่อ ปู่คำมา และย่าคำบี้ ทั้งคู่ต่างก็เป็นปฏิภาณกวี ได้ขับซอถ้อง ร้องโต้ตอบกัน สร้างความครึกครื้นให้กับขบวนเสด็จเป็นอันมาก ซึ่งซอครั้งนั้น เกิดจากการซอบรรยายความงดงามของทิวทัศน์ ของลำน้ำน่านขณะล่องแพ จึงกล่าวได้ว่า ปู่คำมาและย่าคำบี้ เป็นผู้ให้กำเนิดการซอเมืองน่าน ที่เรียกว่า “ซอล่องน่าน” เมื่อมาถึง พระยาการเมืองทรงให้ช่างหล่อเต้าปูนสำริดไว้ 1 ต้น พร้อมกับเอาพระธาตุเจ้า พระพิมพ์เงิน พระพิมพคำ ใส่ลงไปในปูน แล้วปิดฝาทับ พร้อมกับพอกด้วย “สะตายจีน” (ปูนขาวผสมยางไม้ และทรายละเอียด) ให้เกลี้ยงกลมดีและแข็งดังก้อนหิน พร้อมใช้ไพร่พลแต่งกายเป็นเทวบุตร เทวดา มเหสักข์ทั้งปวง นำพระมหาเถรเจ้าและพระยาการเมือง ไปยังหลุมพร้อมนำเอาพระธาตุเจ้าลงใส่ไปในเต้าปูนนั้นแล้วก็ได้ก่อเจดีย์ขึ้นสูงเหนือแผ่นดิน 1 วา มีการนิมนต์พระภิกษุสังฆะเจ้า กระทำการสมโภช พร้อมมีการสักการบูชา แล้วก็ยกรี้พลกลับเมืองปัว ดังนั้น ครั้งแรกที่มีการสร้างพระธาตุแช่แห้งนั้น ไม่ใช่เจดีย์องค์ใหญ่อย่างที่พวกเราเห็นอยู่ทุกวันนี้ อยู่มาได้ไม่นานนัก พระยาการเมืองก็มีใจคิดถึงพระธาตุ อยากจะปฏิบัติไหว้สาองค์พระบรมสารีริกธาตุทุกวัน จึงยกรี้พลทั้งหลายเสด็จลงมาตั้งเมืองใกล้พระธาตุ ที่บ้านห้วยไค้ภูเพียง แช่แห้ง ขุดคู กำแพงดินรอบพระธาตุจนเสร็จสิ้น ณ บริเวณพระธาตุแช่แห้ง ให้ชื่อว่า “เมืองภูเพียงแช่แห้ง”

ต่อมา ปี พ.ศ. 1906 พระยาการเมืองได้สวรรคตลง เจ้าผากอง ลูกของพระยาการเมืองได้ขึ้นครองราชย์แทน จนกระทั่งกาลเวลาล่วงผ่านมา 113 ปี พ.ศ. 2019 ท้าวขาก่าน เจ้าเมืองฝาง เชียงใหม่ ได้มาครองเมืองน่าน (สมัยนั้นเมืองน่านขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ ยุคพระเจ้าติโลกราช) ท้าวขาก่านได้ตำนานเรื่องราวของพระธาตุเจดีย์ดอยภูเพียงแช่แห้ง จากพระมหาเถรเจ้าตนหนึ่ง ชื่อ วชิรโพธิ ท้าวขาก่าน พร้อมด้วยสังฆเจ้าทั้งหลาย จึงได้ร่วมกันค้นหาพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง ซึ่งตอนนั้นปกคลุมด้วยป่าไม้ไผ่ และเถาวัลย์ จะเห็นเพียงแนวจอมปลวกเท่านั้น ท้าวขาก่านจึงได้ให้คนแผ้วถาง ทำการสักการบูชาด้วยช่อตุง เทียน ฯลฯ แต่ก็มองไม่เห็นพระธาตุเจ้า ในระหว่างการแผ้วถางนั้น ยามค่ำคืน พระธาตุก็ได้เปล่งปาฏิหาริย์ จนสว่างสุกใส ท้าวขาก่านได้เห็น ก็พากันขุดคูในจอมปลวก ลึก 1 วา ก็ได้ก้อนผามา 1 ลูกกลมใหญ่กลมเกลี้ยง ท้าวขาก่านจึงทุบให้แตกเห็นข้างใน เป็นต้นปูนใส่ทองเทศใหญ่ มีฝาปิดสนิท จึงให้ปะขาวเชียงโคม ที่อยู่ด้วยนั้น เปิดดูก็เห็นพระธาตุเจ้า 7 องค์ พระพิมพ์เงิน 20 องค์ พระพิมพ์คำ 20 องค์

การเดินทาง : ตั้งอยู่ที่ หมู่ 3 บ้านหนองเต่า ตำบลม่วงตี๊ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวเทศบาลเมืองน่าน โทร. 054-750247, 054-751169, 084-6171542
สถานีตำรวจท่องเที่ยวน่าน โทร. 054-710216

GPS : 18°45'33.8"N 100°47'29.8"E




Leave a comment