fbpx

เที่ยว น่าน…อย่ารอนาน หน้าฝนก็เที่ยวได้ (7 วัน ครบสูตร)

เที่ยว น่าน…อย่ารอนาน หน้าฝนก็เที่ยวได้ (7 วัน ครบสูตร)

ที่เที่ยวน่าน : ทริป น่าน ครั้งนี้ เป็นโครงการของ The Amazing Journey Blogger Contest แนะนำ 12 เมืองต้องห้ามพลาด

ลุงเด้ง ป้าไก่ ได้รับมอบหมายให้เดินทางไปสัมผัสมนต์เสน่ห์แห่งเมืองน่าน วิถีชุมชนควบคู่ไปกับธรรมชาติแสนงามของเมืองเก่าที่มีชีวิตแห่งนี้

น่าน ... ยังไม่เคยไปเลยครับ!!!
กลัวว่าจะได้ข้อมูลไม่ครบ ก็เลยจัดซะ 7 วัน ลากกันเนิบๆ นานๆ กันเลย
เพื่อนๆ หลายคนพอรู้ว่า จะพาครอบครัวไปเที่ยวน่าน 7 วัน ถามกันทุกคนเลยว่าที่น่านมีอะไรน่าเที่ยวขนาดนั้นเลยหรือ???

 

ตอบเพื่อนๆ ไปว่า เท่าที่ ขีดๆ เขียนๆ ก็ 6 วัน แต่ไปน่าน เค้าบอกว่าให้เที่ยวแบบ เนิบๆ.... ก็เลยเพิ่มอีก 1 วัน รวมเป็น 7 วันพอดี
อยากรู้ว่า ลุงเด้ง ป้าไก่ ไปเที่ยวที่ไหนบ้าง ตามมาชมกันได้เลยครับ...

ลุงเด้ง ป้าไก่ หวังว่าข้อมูลนี้จะพอเป็นแนวทางให้เพื่อนๆ เที่ยวน่าน ได้สนุกมากขึ้น
เพื่อนๆ ที่มี Facebook สามารถส่งกำลังใจให้ ลุงเด้งป้าไก่ โดยการกด "โหวต" ได้ที่...
http://www.thethailandbloggernetwork.com/teams/detail/T07
The amazing journey blogging contest

การเดินทางครั้งนี้ อยู่ในโครงการ “The Amazing Journey : Blogging Contest กับโครงการ 12 เมืองต้องห้ามพลาด “
ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมอบหมายให้ ลุงเด้ง ป้าไก่ และ OATTA ออกเดินทางสัมผัสประสบการท่องเที่ยวในเมืองน่านและนำมาถ่ายทอดให้เพื่อนๆ นักเดินทางท่านอื่นๆ ที่สนใจเก็บเป็นข้อมูลท่องเที่ยวเมืองน่านในครั้งต่อไป

เริ่มต้นออกเดินทางด้วยสายการบินนกแอร์ เส้นทางน่าน ให้บริการวันละ 4 เที่ยวบิน ขึ้นเครื่องที่ดอนเมือง

ทริปนี้ลุงเด้งเดินทางด้วยเที่ยวบิน DD8824 ออกจากดอนเมืองเวลา 12:10 ถึงน่าน เวลา 13:45
ใช้เวลาในการเดินทาง 1 ชั่วโมงนิดๆ ยังไม่ทันได้หลับก็ถึงที่หมายอย่างปลอดภัย

 

 

ผู้โดยสาร สามารถเลือกที่นั่งโดยจัดการบุคกิ้ง "Manage Your Booking" ที่หน้าเว็บไซต์ http://www.nokair.com/

 

 

อาหารว่างบนเครื่อง บริการฟรีให้กับผู้โดยสารทุกคน จัดมาใน "นกขนม" Snack Bag ภายในถุงจะมีขนม 1 ชิ้น และน้ำ 1 ถ้วย ด้วยระยะทางการบินเพียง 1 ชั่วโมงนิดๆ ขนม 1 ชิ้น น้ำ 1 ถ้วย ก็เพียงพอกินขนมเพลินๆ จิบน้ำ 1 แก้ว แป๊ปเดียวก็ถึงที่หมายจังหวัดน่าน

ข้อดีของนกแอร์ อยู่ที่โหลดกระเป๋าใต้ท้องเครื่องได้สูงสุดคนละ 15 กก. และสามารถน้ำกระเป๋าถือติดตัวขึ้นเครื่องได้คนละ 1 ชิ้น น้ำหนักไม่เกิน 7 กก. ขนาดไม่เกิน 56 x 36 x 23 ซ.ม.

ทริปนี้ ลุงเด้ง ป้าไก่ ซื้อสายคล้องกระเป๋านกแอร์ราคา 70 บาท ในโครงการ Nok Gives Life
เพื่อช่วยเหลือน้องๆ ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ รายได้ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายจะถูกมอบให้แก่มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สายคล้องกระเป๋ามีจำหน่ายบนเที่ยวบิน และที่สถานีต่างๆ ของนกแอร์ ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 58 นี้เป็นต้นไป

น่าน... ลุงเด้ง ป้าไก่ มาถึงแล้วนะ
การเดินทางจากสนามบิน - >โรงแรมในเมือง และท่องเที่ยวนอกเมือง
ลุงเด้งติดต่อเช่ารถมาก่อนล่วงหน้ามีหลายรายที่ให้บริการ รับ / ส่ง รถที่สนามบินได้เลย

คุ้มเมืองมินทร์ เป็นโรงแรมที่ลุงเด้ง ป้าไก่เลือกไว้ เพราะอยู่ในย่านตัวเมือง และใกล้วัดภูมินทร์
เป็นบูติคโฮเตล สไตล์โคโลเนียลล้านนา ภายในโรงแรมตกแต่งแบบวินเทจ เรียบง่ายแต่ดูดีมีสไตล์

โรงแรมมีบริการรถจักรยาน ให้เช่าฟรี ไว้สำหรับขี่ชมเมือง เพราะรอบๆ
โรงแรมมีสถานที่ท่องเที่ยวและร้านอาหารพื้นเมืองอร่อยๆ หลายร้าน สามารถขับจักรยานไปได้สบายๆ

ลงจากเครื่อง -> รับรถเช่า -> Check-in โรงแรม -> ศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยว

ศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยว อยู่ตรงข้ามวัดภูมินทร์ มีเจ้าหน้าที่แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ
เอกสาร แผนที่ โปรโมชั่นต่างๆ อยู่ที่นี่ทั้งหมด รวมถึงจะซื้อตั๋วนั่งรถรางชมเมือง อยู่ที่นี่

เที่ยวน่าน ช่วงนี้ต้องไม่ลืม PASSPORT กระซิบรักเสมอดาว ด้วยนะครับ
เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นสำหรับนักท่องเที่ยว มีของรางวัลแจกทุกคน
เพียงให้ร้านค้า หรือโรงแรมที่ร่วมโครงการ ประทับตรา ลงใน PASSPORT ก็สามารถมาลุ้นรับรางวัลที่ศูนย์อำนวยการท่องเทียวได้
... ก่อนกลับ วันสุดท้าย ลุงเด้ง ป้าไก่ กับลูกๆ จะมาลุ้นรางวัลกันครับ

แผนที่ กับนักท่องเที่ยว เป็นของคู่กันเสมอ
เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยว อัทธยาศัยดีมากๆ ประทับใจ รู้สึกได้ถึงการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างเมือง

หลังจากได้คำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวก็ทำให้รู้ว่า
โรงแรมที่เราอยู่ มีจักรยานให้เช่าฟรี และเราสามารถขับชมเมืองได้ในรัศมี 1.5 กิโล
จะครอบคลุมวัดที่มีชื่อเสียงของเมืองได้เกือบครบ รวมถึงร้านอาหารที่ห้ามพลาดก็อยู่ในโลเดียวกันนี้

ภารกิจวันนี้... ขี่จักรยาน ชมเมืองน่าน เริ่มต้นขึ้นแล้วครับ
โรงแรมคุ้มเมืองมินทร์ -> วัดภูมินทร์ -> ร้านข้าวซอยต้นน้ำ ->วัดมิ่งเมือง -> วัดศรีพันต้น -> ของหวานป้านิ่ม -> ถนนคนเดิน หน้าวัดภูมินทร์
... วัดทั้งหลายที่พูดมาคือ ขี่จักรยานผ่านหน้าวัด นะครับ
เพราะจุดหมายคือ ข้าวซอยต้นน้ำ / ของหวานป้านิ่ม และ ถนนคนเดิน หน้าวัดภูมินทร์
อมยิ้ม05 อมยิ้ม05 อมยิ้ม05

ไม่รู้เป็นอะไร ทุกครั้งที่ลงจากเครื่องบิน ไม่ว่าใกล้ หรือไกล ทั้งที่ก่อนขึ้นเครื่องก็กิน อยู่บนเครื่องก็กิน
พอลงจากเครื่องก็หิวทันที 555

ข้าวซอยต้นน้ำ
ที่อยู่ : 38/1-2 ถ.สุริยพงศ์ ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน
เวลา : 8.00-16.00 ทุกวัน
GPS : 100°46'10.6"E

ข้าวซอยต้นน้ำ เติบโตอยู่คู่เมืองน่าน มากว่า 30 ปี ตั้งอยู่ใกล้กับวัดมิ่งเมือง (ศาลหลักเมืองน่าน) เปิดอยู่ในบ้านไม้โบราณเล็กๆ 2 ชั้น ภายในมี 6 โต๊ะ รับลูกค้าได้พร้อมกันไม่เกิน 25 คน ตกแต่งร้านแบบบ้านๆ แต่ให้ความรู้สึกดี อบอุ่นเป็นกันเอง ตามประสาชาวบ้านในต่างจังหวัด และนี่คือตัวอย่างของเสน่ห์เมืองน่าน ที่เดินทางจะได้สัมผัสตลอดการเดินทางในเมืองน่าน

จุดสังเกตของที่ตั้งร้าน จะอยู่ระหว่าง 7-ELEVEN กับ วัดมิ่งเมือง (ศาลหลักเมืองน่าน)

ลุงเด้ง ป้าไก่ สอบถามถึงที่มาของชื่อร้าน "ข้าวซอยต้นน้ำ" ได้ความว่า "ต้นน้ำ" คือ ต้นน้ำน่าน หรือ แม่น้ำน่านนั้นเองครับ ในอดีตแม่น้ำเส้นคือทุกสิ่งของเมืองน่าน เป็นแม่น้ำสายหลักในภาคเหนือ ไหลรวมกับแม่น้ำปิง กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ... ตั้งชื่อร้านได้ลึกซึ้ง และมีความหมายมากเลยครับ!!!

ชื่อร้านก็บอกแล้วว่าอาหารจานเด็ดคือ ข้าวซอย มีทั้งไก่ (35 บาท) และ เนื้อ (50 บาท) หรือใครจะกินแบบไก่+เนื้อ (60 บาท) ก็จัดให้ได้ เสิร์ฟมากับเครื่องเคียง ผักกาดดอง หอมแดง และมะนาว สูตรของทางร้านน้ำแกงจะใส ใส่กระทิไม่มาก รสชาติกลางๆ กลมกล่อม

นอกจากข้าวซอย ลุงเด้ง ป้าไก่ แนะนำ ขนมจีนน้ำเงี้ยว (30 บาท) อร่อยไม่แพ้กัน มาแล้วต้องทานอย่างละ 1 จาน ถึงจะเรียกว่าครบรส

Hot Bread เป็นร้านขายกาแฟสด มีชา กาแฟ ขนมเค้ก ขนมปังปิ้ง เปิดติดกับร้านข้าวซอยต้นน้ำ สั่งมากินในร้านได้ จุดเด่นคือ ชา กาแฟ โกโก้ ทางร้านใช้นมสด 100% ไม่ผสมครีมเทียม เครื่องดื่มร้อน 15 บาท / เย็น 20 บาท / ปั่น 25 บาท เท่านั้นเอง

ขี่จักรยานในเมืองน่าน ปลอดภัย เพราะคนน่านให้ความสำคัญกับการขี่จักรยาน
และถนนในเมืองก็โล่ง รถยนต์น้อย เป็นเมืองที่เงียบสงบ และสวยงาม

จาก ข้าวซอยต้นน้ำ ขี่จักรยาน ไม่เกิน 5 นาที (ขี่แบบเนิบๆ) ก็ถึง ร้านขนมหวานป้านิ่ม ตั้งอยู่ 4 แยก วัดศรีพันต้น

ร้านของหวานป้านิ่ม
ที่ตั้ง : 92/5 สี่แยกศรีพันต้น ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน 55000
เวลา : 9.00 - 21.00 น. หยุดทุกวันพุธ
โทร. : 085 036 6108
GPS : 118°46'32.5"N 100°45'56.3"E

ร้านของหวานป้านิ่ม ตั้งอยู่ในบ้านไม้ทรงไทยล้านนา สี่แยกวัดศรีพันต้น เปิดให้บริการความอร่อยตั้งแต่ 11 โมงเช้า ถึง 4 ทุ่มครึ่ง ใครตั้งใจมากินบัวลอยไข่หวาน ต้องมาหลัง 6 โมงเย็น เป็นต้นไป

ขนมหวานร้านนี้แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ขนมหวานร้อน เช่น บัวลอยมะพร้าวอ่อน (25 บาท )
บัวลอยมะพร้าวอ่อนไข่หวาน (30 บาท)เต้าส่วน (25 บาท) เม็ดเดือยเปียกมะพร้าวอ่อน (25 บาท)
ข้าวเหนียวดำเปียกมะพร้าวอ่อน (25 บาท)

บัวลอยมะพร้าวอ่อนไข่หวาน เด่นที่ความหอมของน้ำกระทะ และตัวแป้งที่นุ่มกำลังดี หวานน้อย รสนุ่มส่วนของหวานอื่นๆ อยู่ในระดับมาตรฐาน

ที่น่าสนใจก็คือ เราสามารถรวมเมนูร้อน และ เย็น ไว้กินด้วยกันได้ เช่น ไอศกรีมกระทิ + ข้าวเหนียวดำเปียกมะพร้าวอ่อน / ไอศกรีมกระทิ + บัวลอย / ไอศครีมกระทิ + สลิม + ทับทิมกรอบ / ไอศกรีมกระทิขนมปังกรอบ เมนูแปลกๆ ที่เราอยากกิน ทางร้านจัดให้ได้จะมากน้อยก็ตามราคา ร้านนี้น้ำดื่มบริการตัวเอง และการสั่งของหวานก็สั่งหน้าร้านบริการตัวเองเช่นกันนะครับ

ของหวานร้านป้านิ่ม อร่อย... แต่ราคาค่อนข้างสูง อาจจะสูงกว่าร้านของหวานในกรุงเทพด้วยซ้ำไป

หลังจากได้ลองชิม ของหวานป้านิ่ม จุดหมายสุดท้ายของวันนี้ก็คือ ถนนคนเดินหน้าวัดภูมินทร์
ทุกวันเสาร์ อาทิตย์ จะมีถนนคนเดิน เริ่มตั้งแต่เวลา 5 โมงเย็น เรื่อยไปจนถึง 2 ทุ่ม

มีร้านค้าขายเสื้อพิมพ์ลาย สวยๆ เกี่ยวกับเมืองน่าน หลายแบบ หลายสีหลายขนาด ราคาไม่แพงเริ่มตั้งแต่ 1XX บาท เท่านั้น
ของที่ระลึกทำมือ ก็มีให้เลือกซื้อหาเป็นของฝาก หรือเลือกซื้ออาหาร ของกินเล่น ขนม ราคาก็เริ่มต้นที่ 10 / 20 / 30 สูงสุด 50 บาท แล้วมานั่งกินที่ลานหน้าวัดภูมินทร์ก็ได้บรรยากาศแบบล้านนา

ถนนคนเดินสายเล็กๆ ที่เมืองน่านแห่งนี้  มีเสน่ห์มากมาย ด้วยความที่พ่อค้าแม่ขายทุกคน ทุกร้าน
อัทธยาศัยดีมากๆ ยิ้มแย้ม เป็นกันเองจริงๆ ครับ

หลังจากเลือกซื้อของที่ระลึก ก็ซื้อขนมมานั่งกิน พร้อมชมการแสดงที่บริเวณลานหน้าวัดภูมินทร์
ไม่มีโต๊ะเก้าอี้ เราจะวางอาหารบนโตก แล้วนั่งบนเสื่อล้อมวง กินกันอย่างสนุกสนาน พร้อมกับนั่งชมการแสดง และการเล่นดนตรีพื้นบ้านแบบล้านนา

ถนนคนเดิน เปิดตั้งแต่ 5 โมงเย็น จนถึง 2 ทุ่ม
ประมาณ 1 ทุ่ม ลุงเด้ง ป้าไก่ เริ่มสังเกตเห็นความสวยงามของวัดในยามค่ำคืน
เพราะเกือบทุกวัดในเมืองจะเปิดไฟ ส่องไปยังโบสถ์ และวิหาร เกิดประกายเจิดจรัสในยามค่ำคืน
นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ก็สามารถเดินชมความสวยงามได้

จบวันแรกของการเดินทาง มุ่งหน้ากลับสู่โรงแรมก็ไม่ไกลจากวัดภูมินทร์ ขี่จักรยาน 2 นาทีก็ถึงแล้ว

ห้องพักนอนได้ 3 คน คืนละ 1,300 บาทเท่านั้น
ถ้านอน 4 คน ต้องเพิ่มเครื่องนอน เป็นฟูก พร้อมผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว และอาหารเช้า คิดเพิ่มแค่ 200 บาท / คน / วัน

สรุป... ค่าห้องสำหรับ 4 คน คือ 1,500 บาท / คืน รวมอาหารเช้า
โรงแรมใหม่ ห้องสะอาด ใหญ่ บริการดี อาหารเช้าอร่อย ราคานี้ คุ้มมากๆ ครับ
ตรวจสอบราคาก่อนเดินทางได้ที่ http://goo.gl/3WBD8k

อาหารเช้าของโรงแรมเป็นแบบบุฟเฟ่ต์

เมื่อวานได้แต่ ขี่จักรยานผ่านหน้าวัด วันนี้ได้เวลาเจาะลึกกันแล้วครับ
เริ่มต้นที่ วัดภูมินทร์ เดิมมีชื่อว่า “วัดพรหมมินทร์” ตั้งตามชื่อของเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เจ้าผู้ครองนครน่านได้โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2139 หลังจากที่เจ้าเจตบุตรขึ้นครองนครน่านได้ 6 ปีนี้ ต่อมาชื่อวัดถูกเรียกกันจนเพี้ยนไป จนกลายเป็น “วัดภูมินทร์” ตามที่รู้จักกันในปัจจุบัน

จุดเด่นของวัดนี้คือ "พระอุโบสถจตุรมุข” สถาปัตยกรรมอันโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์เฉพาะ ที่รวมเอาโบสถ์ วิหาร และเจดีย์ ไว้ในอาคารเดียวกัน ในลักษณะการจำลองแผนภูมิจักรวาลตามความเชื่อแห่งพุทธศาสนา โดยมีพระประธานจตุรทิศปางมารวิชัย 4 องค์ หันหน้าออกสู่ประตูทั้ง 4 ทิศ ประดิษฐ์ฐานอยู่ภายใน และมีนาคสะดุ้งขนาดใหญ่แห่แหนพระอุโบสถเทินไว้กลางลำตัว ที่เปรียบเสมือนการอุ้มชูพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป

มีเรื่องเล่ากันว่า หากใครจะไปกราบขอพรพระจตุรทิศ ให้พยายามสังเกตหน้าองค์พระ 1 ในทั้งสี่ทิศ ซึ่งจะมีอยู่เพียงทิศเดียวเท่านั้น ที่หน้าองค์พระประธานจะมีลักษณะยิ้มแย้มมากกว่าทั้ง 3 ทิศที่เหลือ ก็ให้กราบขอพรยังทิศนั้นแล้วจะได้สมปรารถนาตามที่ตั้งใจ

"ฮูปแต้ม" ภาพจิตรกรรมวัดภูมินทร์
วัดภูมินทร์ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ. 2410 ในสมัยพระเจ้า อนันตวรฤทธิเดช (ปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ซึ่งเจ้าผู้ครองนครน่านมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงโปรดให้ช่างหลวงบูรณะวัดเป็นครั้งใหญ่ มีจำนวนถึง 22 วัด และวัดภูมินทร์ก็ได้รับการบูรณะเป็นอันดับที่ 9 ใช้เวลาบูรณะอยู่ราว 8 ปี (พ.ศ. 2410 - 2418) ซึ่งกรม
ศิลปากรสันนิษฐานว่า การบูรณะครั้งนี้ เป็นที่มาของภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดภูมินทร์นี้เอง

ภาพจิตกรรมฝาผนังที่โดดเด่นเป็นพิเศษในวัดภูมินทร์แห่งนี้ก็คือ ภาพ “กระซิบบันลือโลก” หรือภาพ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” ซึ่งเป็นคำเรียกผู้ชายผู้หญิงชาวไทลื้อสมัยโบราณ ในลักษณะกระซิบสนทนากัน

คำกลอนภาษาคำเมือง ที่แต่งขึ้นมาสำหรับภาพนี้ ว่าไว้ว่า…
"กำฮักน้องกูปี้จั๊กเอาไว้ในน้ำก็กั๋วหนาว
จั๊กเอาไว้ปื้นอากาศกลางหาว
ก็กั๋วหมอกเหมยซ่อนดาวลงมาขะลุ้ม
จั๊กเอาไปใส่ในวังข่วงคุ้ม
ก็กั๋วเจ้าปะใส่แล้วลู่เอาไป
ก็เลยเอาไว้ในอกในใจ๋ตัวจายปี้นี้
จั๊กหื้อมันไห้ อะฮิ อะฮี้
ยามปี้นอนสะดุ้งตื่นเววา"

คำแปล “ความรักของน้องนั้น พี่จะเอาฝากไว้ในน้ำก็กลัวเหน็บหนาว จะฝากไว้กลางท้องฟ้าอากาศกลางหาว ก็กลัวเมฆหมอกมาปกคลุมรักของพี่ไปเสีย หากเอาไว้ในวังในคุ้ม เจ้าเมืองมาเจอก็จะเอาความรักของพี่ไป เลยขอฝากเอาไว้ในอกในใจของพี่ จะให้มันร้องไห้รำพี้รำพันถึงน้อง ไม่ว่ายามพี่นอนหลับหรือสะดุ้งตื่น”

ภาพนี้ได้รับการขนานนามว่า ... โมนาลิซ่า แห่งเมืองน่าน

ภาพหญิงสูงศักดิ์ นั่งอยู่บนเก้าอี้ทรงหลุยส์แบบยุโรป
อาจารย์ วินัย ปราบริปู ศิลปินสายเลือดน่าน ได้แสดงความเห็นไว้ว่า ศิลปินผู้เขียนภาพที่วัดภูมินทร์เป็นศิลปินคนเดียวกับผู้เขียนภาพที่วัดหนองบัว ที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน "หนานบัวผัน" หรือ ทิดบัวผัน ช่างวาด ชาวไทลื้อ เนื่องจากภาพจิตรกรรมวัดภูมินทร์กับวัดหนองบัวมีโครงสร้างสีเดียวกัน คือ แม่สีแดง น้ำเงิน เหลืองเป็นหลัก และมีภาพที่คล้ายคลึงกันถึงกว่า 40 จุด เช่น ใบหน้าคน การแต่งกาย สรรพสัตว์ ทั้งไก่แจ้ นก ลิง กวาง แม้กระทั่งแนวการลากเส้นสายพุ่มไม้และกอ สับปะรด ก็ยังเป็นแบบเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการ ค้นพบภาพร่างด้วยหมึกบนกระดาษสาพับ (ชาวล้านนาเรียก ปั๊บสา) ระบุว่าเป็น ของ "หนานบัวผัน" ใช้ร่างก่อนภาพจริงลงบนฝาผนัง ซึ่งมีหลายภาพ อาทิ ภาพอี โรติกของลิงหนุ่มสาว เป็นภาพร่างใน "ปั๊บสา" พบที่วัดหนองบัว แล้วมีภาพนี้ไป ปรากฎที่ฝาผนังวัดภูมินทร์ด้วย

จากวัดภูมินทร์ มองข้ามสี่แยกออกไปก็จะเป็นวัด พระธาตุช้างค้ำ

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เดิมมีชื่อเรียกว่า "วัดหลวง" หรือ “วัดหลวงกลางเวียง” ตั้งอยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน (หอคำ) สร้างขึ้นในปีสมัยพระเจ้าปู่แข็ง พ.ศ.1949 เป็นวัดหลวงในเขตนครน่าน เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญทางพุทธศาสนา และพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในอดีตตามศิลาจารึกหลักที่ 74 ซึ่งถูกค้นพบภายในวัดกล่าวว่า พญาพลเทพฤาชัย เจ้าเมืองน่านได้ปฏิสังขรณ์บูรณะวิหารหลวงเมื่อ พ.ศ. 2091

ลักษณะสถาปัตยกรรมของวัดพระธาตุช้างค้ำนี้ สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของศิลปะ สุโขทัย อาทิ เจดีย์ทรงลังกา ( ทรงระฆัง) รอบฐานองค์พระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนและปั้นเป็นรูปช้างครึ่งตัว ด้านละ 5 เชือก และที่มุมทั้งสี่อีก 4 เชือก ดูคล้ายจะเอาหลังหนุน หรือ “ค้ำ” องค์เจดีย์ไว้ ลักษณะคล้ายวัดช้างล้อม จังหวัดสุโขทัย และถายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดยืนปางประทานอภัย อายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 19 ตรงกับสมัยสุโขทัยตอนปลาย มีลักษณะคล้ายพระพุทธรูปปางประทานอภัยที่วัดราชธานี จังหวัดสุโขทัย

พระประธานเป็นปูนปั้นขนาดใหญ่ศิลปะเชียงแสน ฝีมือสกุลช่างน่านที่มีพุทธลักษณะงดงามยิ่งของเมืองน่าน พระวิหารหลวงวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหารเป็นวิหารขนาดใหญ่รูปทรงสร้างตามสถาปัตยกรรมทางภาคเหนือ ลักษณะภายในโอ่โถงด้านหน้ามีสิงห์คู่ยืนตรงเชิงบันไดด้านละตัว มีทางเข้า 3 ทาง ประตูกลางทำเป็นประตูใหญ่ และ ประตูเล็กอยู่ด้านซ้าย และ ด้านขวามีทางขึ้นเป็นประตูเล็กๆ ตรงข้ามพระประธานด้านทิศตะวันออก และ ทิศตะวันตกอีก 2 ข้าง ทำหลังคาซ้อนกัน 2 ชั้น มุขลดด้านหน้า และ ด้านหลัง หน้าบันตีด้วยแผ่นกระดานเรียงต่อกัน แล้วประดับที่ขอบเสาด้านหน้าทุกต้นตามลักษณะสถาปัตยกรรมล้านนาไทย ภายในพระวิหารกว้างขวาง มีเสาปูนกลมขนาดใหญ่ ขนาด 2 คนโอบรอบ จำหลักลวดลายปูนปั้นนูนสูงไว้ เหนือจากระดับพื้นพระวิหาร 1.50 เมตร เป็นลวกลายกนกระย้าย้อยเหมือนลวดลายที่เสาในวิหาร วัดภูมินทร์ ยังมีพระพุทธรูปทองคำปางลีลา คือพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี

ตรงข้ามวัดพระธาตุช้างค้ำ คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมืองน่าน (ปิดปรับปรุงชั่วคราว) เสียดายมากๆ
แต่... โบราณสถานวัดน้อย ประดิษฐานอยู่ ณ ใต้ต้นโพธิ์หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมืองน่าน
จัดให้เป็น วัดที่เล็กที่สุดในโลก

โบราณสถานวัดน้อย เป็นวัดที่เล็กมากอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ถ้าเราไม่สังเกตให้ดีก็จะไม่เห็น
สาเหตุที่สร้างวัดนี้ขึ้นมาก็มีเรื่องเล่าว่า ...

ใน พ.ศ. ๒๔๑๖ พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และกราบบังคมทูลถึงจำนวนวัดทั้งหมดในน่านรวมได้ 500 วัด เมื่อเสด็จกลับน่านได้สั่งให้สำรวจจำนวนวัดทั้งหมดในเมืองน่านอีกครั้ง พบว่าวัดทั้งหมดในน่านมีเพียง 499 วัด นับจำนวนเกินไปหนึ่งวัดจึงได้ทรงโปรดให้ช่างสร้างวัดน้อยขึ้นที่โคนต้นโพธิ์หน้าวังของท่าน (หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมืองน่าน ในปัจจุบัน) ตั้งชื่อว่า "วัดน้อย" แห่งนี้ขึ้นมาให้ครบตามจำนวน 500 วัด ตามที่กราบบังคมทูล

ด้วยรูปทรงของวัดน้อย เป็นวิหาร ก่ออิฐ ถือปูน กว้าง ๑.๙๘ เมตร ยาว ๒.๓๔ เมตร สูง ๓.๓๕ เมตร แบบศิลปะล้านนา สกุลช่างน่าน มีพระพุทธรูปและแผงพระพิมพ์ไม้ประดิษฐานอยู่ภายใน เชื่อว่าเป็นวัดที่เล็กที่สุดในประเทศไทย

สัจจะต่อวาจา นั้นคือ จริงต่อวาจา นั่นก็คือคำพูดของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการพูดด้วยปาก หรือการเขียน ตลอดจนการแสดงอาการที่เป็นการปฏิญาณต่อผู้อื่นก็ตาม เมื่อพูดออกไปแล้วก็ต้องพยายามทำให้ได้จริงตามที่พูด ว่ากันว่านี่คือสิ่งที่คนน่านยึดถือมาตลอด

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมืองน่าน นอกจากจะมีวัดน้อย ยังมีซุ้มต้นลีลาวดีที่ขึ้นเรียงรายเป็นแถวยาวแผ่ขยายกิ่งก้านเหมือนอุโมงค์ต้นไม้
อย่าลืมแวะมาถ่ายรูปกันด้วยนะครับ รับรองได้ภาพความประทับใจกลับบ้านแน่นอน

เมื่อวานไปกินข้าวซอยต้นน้ำ ที่ตั้งอยู่ข้างๆ วัดมิ่งเมือง
โห... วัดมิ่งเมือง เป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองน่านด้วยนะครับ

วัดมิ่งเมือง ตั้งอยู่ที่ถนนสุริยพงศ์ เป็น เป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองของจังหวัดน่าน ประวัติของวัดมิ่งเมือง คือ เดิมเป็นวัดร้าง มีเสาหลักเมืองที่เป็นท่อนซุงขนาดใหญ่สองคนโอบ พบที่ซากวิหาร ในราวปี 2400 เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าครองนครน่านสถาปนาวัดใหม่ ตั้งชื่อว่า วัดมิ่งเมือง ตามชื่อที่เรียกเสาหลักเมืองว่า เสามิ่งเมือง ต่อมาปี 2527 พระครูสิริธรรมภาณี (เสน่ห์ ฐานสิริ) เจ้าอาวาสวัดมิ่งเมืองทำการรื้อถอนอุโบสถหลังเดิมทั้งหลัง เนื่องจากชำรุดทรุดโทรมมาก โดยออกแบบให้เป็นอุโบสถแบบล้านนาร่วมสมัย การก่อสร้างตัวอาคารเป็นฝืมือของช่างพื้นบ้านเมืองน่าน งานลวดลายปูนปั้นเป็นฝีมือช่างจากเชียงแสน โดยมีนายเสาร์แก้ว เลาดี เป็นช่างใหญ่ที่ทำการปั้นและออกแบบลวดลายปูนปั้นทั้งหมด

ภายในอุโบสถได้ทำการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยคุณสุรเดช กาละเสน (จิตรกรพรสวรรค์พื้นบ้านเมืองน่าน) โดยเขียนแบบอนุรักษณ์ภาพโบราณ เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองน่าน เริ่มตั้งแต่สมัยพญาภูคาเจ้าเมืองน่านองค์ปฐมตั้งอยู่เมือง ณ เมืองย่าง (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอปัว) มาจนถึงสมัยเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย

วัดมิ่งเมือง ยังเป็นที่ประดิษฐานเสาพระหลักเมืองน่าน คนเมืองน่านในสมัยโบราณเรียกขานว่า "เสามิ่งเมือง" หรือ "เสามิ่ง" โดยสมเด็จเจ้าฟ้าอัตถะวรปัญโญ เจ้าผู้ครองเมืองน่านองค์ที่ 57 โปรดให้ฝังเสาประหลักเมืองน่านลง ณ จุดนี้ เมื่อปีพุทธศักราช 2331 หลังจากที่พระองค์ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชการที่ 1 ณ กรุงเทพฯ และร่วมพระราชทานพิธีฝังเสาพระหลักเมือง กรุงเทพมหานคร เมื่อปีพุทธศักราช 2129 พระองค์จึงได้คตินั้นมาฝังเสาพระหลักเมืองน่านขึ้น

ลุงเด้ง ป้าไก่ เชื่อว่ามาเยือนเมืองน่านควรจะมาสักการะเสาหลักเมืองประจำจังหวัด
เพื่อเป็นศิริมงคลและคุ้มครองให้การเดินทางครั้งนี้ประสบความสำเร็จและปลอดภัยตลอดการเดินทาง

วัดศรีพันต้น ... อยู่ใกล้กับ ร้านของหวานป้านิ่ม
สร้างโดยพญาพันต้น เจ้าผู้ครองนครน่าน แห่งราชวงศ์ภูคา (ครองนครน่าน ระหว่าง พ.ศ. 1960 - 1969 ) ชื่อวัดตรงกับนามผู้สร้าง คือพญาพันต้น บางสมัยเรียกว่า วัดสลีพันต้น (คำว่า สลี หมายถึง ต้นโพธิ์) ซึ่งในอดีตมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ด้านทิศเหนือและทิศใต้ของวัด ปัจจุบันถูกโค่นเพื่อตัดเป็นถนนแล้ว วัดศรีพันต้นได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2505 ภายในวัดมีวิหารที่สวยงามตั้งเด่นเป็นสง่า มีสีทองระยับ เป็นอีกวัดหนึ่งในจังหวัดน่านที่มีจิตรกรรมปูนปั้นที่สวยงามโดยเฉพาะพระยานาคพญานาคเจ็ดเศียรเฝ้าบันไดหน้าวิหารวัด สีทองเหลืองอร่ามสวยงามตระการตา มีความสวยงามมาก ดูอ่อนโยนมีชีวิตชีวา ซึ่งปั้นแต่งโดยช่างชาวน่านชื่อ นายอนุรักษ์ สมศักดิ์ หรือ "สล่ารง" และภายในวิหารได้มีการเขียนภาพลายเส้นประวัติของพระพุทธเจ้าและประวัติการกำเนิดเมืองน่าน โดยช่างชาวน่าน เป็นภาพ เขียนลายเส้นลงสีธรรมชาติสวยงามและทรงคุณค่าอย่างยิ่ง

ได้เวลาอาหารกลางวัน... เตี๋ยวไร้เทียมทาน
เตี๋ยวไร้เทียมทาน
ที่ตั้ง : 28/6 ถ.ข้าหลวง ตรงข้าม โรงเรียนบ้านดอนศรีเสริม จ.น่าน
เวลา : 10.00 - 21.00 น. (ทุกวัน)
โทร. : 082-182933
GPS : 18°46'43.3"N 100°46'36.6"E

ก๋วยเตี๋ยวซุปกระดูกหมูไร้เทียมทาน เจ้าแรกในเมืองน่าน
เจ้าของสถิติร้านก๋วยเตี๋ยวที่ใช้กระดูกหมูเคี่ยวน้ำซุปเป็นอันดับ 1 ของจังหวัดน่าน มากกว่า 1,000 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน ต่อเดือน
เตี๋ยวไร้เทียมทาน อีก 1 ร้านยอดฮิตในเมืองน่าน จุดเด่นของร้านคือกระดูกหมูบิ๊กไซส์ชิ้นใหญ่เนื้อเยอะ เสิร์ฟมาชิ้นเดียว แต่เต็มชาม เนื้อติดกระดูกส่วนนี้อร่อยที่สุดขนาดที่บางคนเรียกส่วนนี้ว่า "สันหลังมังกร" ต้มในน้ำซุปมาจนเปื่อยได้ที่จะใช้ตะเกียบคีบเนื้อหมูออกมาอร่อยได้เต็มคำ หรือจะใช้มือจับขึ้นมาแทะก็ไม่ว่ากัน (ใช้มือจับแทะอร่อยได้รสชาติที่สุดครับ)

เมนูเด็ดของร้านที่ห้ามพลาดคือ บะหมี่ดูกยำ ชามละ 50 บาท น้ำซุปยำรสจัดจ้าน (นึกแล้วเปรี้ยวปากจริงๆ) ใช้วัตถุดิบชั้นดี พริกป่น กระเทียมเจียว ถั่วลิสง ทางร้านคั่วเอง เจียวเองทั้งนั้น

เมืองน่าน มีบริการนำเที่ยวด้วย รถรางชมเมืองน่าน สัมผัสธรรมชาติและวิถีชุมชน
บริหารจัดการโดยเทศบาลเมืองน่าน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นหนึ่งในรายการที่ห้ามพลาดถ้ามาเมืองน่าน
ใช้เวลาในการชมเมือง 45-60 นาที ตลอดเส้นทางจะแวะให้ชมสถานที่ท่องเที่ยว 2 จุด วัดสวนตาล วัดมหาโพธิ์ หรือ วัดดอนแก้ว ซึ่งสถานที่อาจจะเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

ประชาชนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ราคา 30 บาท/คน
เด็ก (ต่ำกว่า 14ปี) และผู้สูงวัย (60 ปีขึ้นไป) ราคา 15 บาท/คน

วันธรรมดา : 9.00 และ 15.00
วันเสาร์ - อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ : 9.00 / 10.30 / 13.30 / 15.00
เวลาอาจมีการเปลี่ยนแปลง ติดต่อสอบถาม หรือจองล่วงหน้าได้ที่ 054-751-169

ตลอดการนั่งรถชมเมือง ก็จะมีผู้บรรยายตลอดการเดินทางเป็นภาษาคำเมือง ซึ่งก็เข้าใจได้ไม่ยากครับ

หลังจากจบการนั่งรถชมเมืองก็แวะไปชิมเค้กร้าน I sugar Bakery Café
ที่ตั้ง : 91/1-2 ถนนมหาวงศ์ อ.เมืองน่าน จ.น่าน
เวลา : 9.00 - 20.00 น. (ทุกวัน)
โทร. : 054-710-236, 087-787-9887
GPS : 18°46'40.9"N 100°46'26.6"E

จิบกาแฟ ใช้ชีวิตแบบ "Slow life" สักประเดี๋ยว ที่เมืองน่าน ที่ I sugar Bakery Café ร้านกาแฟเล็กๆ ที่แตกไลน์มาจากร้าน The Best Bakery ที่ให้ความอร่อยเรื่องเค้กและขนมปังในเมืองน่านแห่งนี้มากว่า 10 ปี สำหรับให้ลูกค้าซื้อกลับบ้าน

I sugar Bakery Café ตกแต่งร้านได้สวยน่ารักสไตล์อิงลิชวินเทจ ประดับประดาด้วยตุ๊กตาของที่ระลึกจากทั่วโลก พื้นที่ภายในร้านแบ่งสัดส่วนได้ดีมากๆ มีมุมสั่งเครื่องดื่ม มุมนั่งจิบชา ดื่มกาแฟ ชิมเค้ก อ่านหนังสือ สำหรับลูกค้าที่ต้องการจะทานเค้กก็จะมีประตูลับที่เปิดทะลุไปยังร้าน The Best Bakery สั่งเค้กที่ต้องการ ไม่นานก็จะยกมาเสิร์ฟที่โต๊ะ

เค้กของที่ร้านที่ลูกค้านิยม ช็อคโกแลตหน้านิ่ม white chocolate ชาเขียว บลูเบอร์รี่ชีสพาย เครปเค้ก และเค้กมะพร้าวอ่อน ซึ่งแต่ละวันก็สลับเปลี่ยนหมุนเวียนไปเรื่อยๆ

กาแฟรสชาติของที่ร้านนี้หอมอร่อย เข้มข้น แนะนำ กาแฟแพะที่ส่งตรงมาจากเชียงใหม่ หรือจะเป็น เอสเปรสโซ่ อเมริกาโน่ คาบูชีโน่ ลาเต้ มอคค่า มากันครบทั้งแบบ ร้อน เย็น และ ปั่น ราคาเริ่มต้นที่ 30-55 บาทเท่านั้น เครื่องดื่มอื่นๆ จะเป็นชาร้อน โกโก้ นมสดไวท์ช๊อค ก็จัดให้ได้เช่นกัน

มื้อเย็นวันนี้เรากินกันตั้งแต่เย็น เลยครับ เพราะกะว่าจะนอนเร็ว ตื่นเช้า เพราะพรุ่งนี้เราจะขับรถออกนอกเมืองกัน
เฮือนฮอม
ที่ตั้ง : 11/12 ถนนสุริยพงษ์ อ.เมืองน่าน จ.น่าน ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน
เวลา : 9.00 - 21.00 น. (ทุกวัน)
โทร. : 054751122 , 0819617711
GPS : 18°46'35.4"N 100°46'11.2"E

ร้านนี้ขึ้นชื่อเรื่องอาหารพื้นเมือง แต่ลุงเด้งป้าไก่มาหลงเส่นห์ไข่เจียวกรอบ เฮือนฮอมร้านอาหารเหนือสไตล์พื้นเมืองแท้ๆ ตั้งอยู่ตรงข้าม 7 Eleven ใจกลางเมืองน่าน ใกล้วัดมิ่งเมือง (ศาลหลักเมืองน่าน) โครงสร้างเป็นศาลาทำด้วยไม้ ด้านในสุดมีพื้นที่สำหรับนั่งกินแบบขันโตก รายการอาหารมีให้เลือกหลากหลาย ทั้งของพื้นเมือง รวมถึงเมนูภาคกลาง เมนูเด่นๆของที่นี่ ก็น่าจะเป็น ขนมจีน ชุดใหญ่ มาพร้อมผักเคืองเคียง และน้ำแกงขนมจีนครบชุด ไม่ว่าจะเป็นน้ำเงี้ยว น้ำกะทิ และน้ำพริก

ทริปนี้ลุงเด้ง ป้าไก่ มาเที่ยวน่าน 7 วัน อาหารพื้นเมืองก็กินไปหลายร้าน มองไปเห็นเมูนู ไข่เจียวกรอบ (100 บาท) สอบถามจากพนักงานต้อนรับได้ความว่าเป็นเมนูเด็ดของทางร้าน ก็เลยแจ้งไปว่าขอเมนูเด็ดเพิ่มอีก 2 รายการ นั้นคือ อาหารพื้นบ้านเมืองน่าน แกงส้มเมืองปลาคัง (100 บาท) และ เมนูหายาก หมูทอดปลาเค็ม (100 บาท) นี่คือ 3 เมนูที่ทางร้านภูมิใจนำเสมอ

วันที่ 3 เราออกเดินทางแต่เช้า... จุดหมายคือ อุทยานแห่งชาติขุนสถาน เสาดินนาน้อย

จากตัวเมืองน่าน มุ่งหน้าสู่ อุทยานแห่งชาติขุนสถาน เสาดินนาน้อย
ใน Google Map บอกว่าใช้เวลาประมาณ 1.49 ชั่งโมง แต่ขับจริงๆ นานกว่านั้นมากนะครับ
1. ขับช้าๆ ชมวิวข้างทางที่สวยมากๆ
2. ทางโค้งเยอะ ขับเร็วไม่ได้

วิวระหว่างทาง

ใกล้ละครับ ทนอีกนิด อึดอีกหน่อย เดี๋ยวก็จะถึงแล้ว

ประกาศ ลดค่าเข้าอุทยานทั่วประเทศ 50% เฉพาะวันธรรมดา
ข่าวดีสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย เมื่อกรมอุทยานฯ ประกาศลดค่าเข้าอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ 50% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2558 ในวันธรรมดา จันทร์-ศุกร์ ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับธรรมชาติที่สวยงาม และส่งเสริมปีการท่องเที่ยววิถีไทย

มีบางช่วงทางชันมาก ถ้าฝนตกอันนี้ต้องระวังลื่น ล้อฟรี ปีนไม่ขึ้น
แล้วฝนก็ตกลงมาจริงๆ ด้วย แต่ไม่มากครับ เอาตัวรอดมาได้ ...

อุทยานแห่งชาติขุนสถาน บรรยากาศบนนี้สดชื่นมาก ... สูดอากาศเต็มปอดได้อย่างสบายใจเลยครับ

ตามแผนที่วางไว้ ลุงเด้ง ป้าไก่ กับลูกชาย 2 คน ตั้งใจจะพักที่นี่แหละครับ
สอบถามมาล่วงหน้า แต่... เต็มครับ (เสียใจมาก) ......................

ต้องย้ายไปพักที่ อุทยานแห่งชาติศรีน่าน
(ที่ศรีน่านจะไม่กลับไปอีกแล้ว 555 เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังว่าทำไมไม่อยากกลับไปอีกแล้ว!!!)

ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน ว่าครอบครัวเรามาถึง อุทยานแห่งชาติขุนสถาน แล้ว 555

น้องสุขใจก็มา อุทยานแห่งชาติขุนสถาน ด้วยนะ

ออกจากอุทยานแห่งชาติขุนสถาน แวะหาร้านอาหารกลางวัน มาจบที่ร้าน นาน้อย
ดูโลโก้ร้านซิครับ น่าน...แน่ ออก อิโรติก 18+ นะครับ 555

จุดหมายถัดไปคือ เสาดินนาน้อย

เสาดินนาน้อย หรือ ฮ่อมจ๊อม ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติศรีน่าน เป็นผืนดินขนาดใหญ่กว่า 50 ไร่ มีลักษณะเป็นเสาดินขนาดใหญ่คล้าย “แพะเมืองผี” ที่จังหวัดแพร่ จากข้อสันนิษฐานทางธรณีวิทยา เสาดินนาน้อย เกิดจากดินที่ตกตะกอน ทับถมกันเป็นจำนวนมาก เมื่อมีการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกจึงทำให้พื้นที่บางส่วนพังทลาย และยุบตัวลง ทำให้เกิดดินรูปร่างแปลกตา เมื่อเวลาผ่านพ้นไปอีกหลายล้านปี จากการกัดเซาะของน้ำ ฝน และลมตามธรรมชาติ ทำให้ดินบริเวณนี้มีรูปทรงแตกต่างกันออกไป บ้างเป็นเสาดินกลมมน บ้างเป็นเสาแหลม หรือบางส่วนก็มีลักษณะคล้ายกำแพงดินขนาดใหญ่ กระจัดกระจายอยู่เต็มพื้นที่

ที่อยู่ : หมู่ที่9 ต.ศรีษะเกษ อ.นาน้อย จ.น่าน 55150

GPS : เสาดิน N18 18 13.53, E100 45 12.28
คอกเสือ N18 17 49.24, E100 45 7.36

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาจากผู้เฒ่าผู้แก่คนโบราณ ซึ่งต่างก็เรียกขานสถานที่แห่งนี้ในชื่อที่แตกต่างกันออกไป เช่น “เด่นปู่เขียว” หรือ “เด่นอีบด” ซึ่งที่มาของทั้ง 2 ชื่อนี้เล่ากันว่า มีคนชื่อ “ปู่เขียว” หรือ “อีบด” ไปนั่งอยู่ในบริเวณนี้ในช่วงที่ดินเริ่มถูกน้ำเซาะจนพังทลายลงมา และถูกดินถล่มลงมาทับตาย ชาวบ้านจึงเรียกขานกันด้วยชื่อนี้มาเป็นเวลานาน ต่อมาเมื่อดินถูกน้ำเซาะมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นเสาดิน ชื่อเด่นปู่เขียวหรือเด่นอีบดก็ถูกลืมเลือนไป และชาวบ้านต่างก็เรียกขานกันด้วยชื่อ “เสาดิน” ตามลักษณะที่ปรากฎแทนจนถึงปัจจุบัน

คืนนี้เราต้องค้างคืนที่ อุทยานแห่งชาติศรีน่าน
เนื่องจากช่วงนี้นักท่องเที่ยวน้อย ร้านอาหารในอุทยานปิด เราเลยต้องเตรียมเสบียงง่ายๆ ไปเป็นอาหารเย็น
นอนค้าง 1 คืน ตอนเช้าก็ออกเดินทางกันต่อ

วิวสวยๆ บนจุดชมวิวที่ อุทยานแห่งชาติศรีน่าน

ประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิตที่ต้องมานอนค้าง บ้านพักในอุทยานแห่งชาติศรีน่าน
ภายนอกดูดีเชียวครับ ... แต่พอดูนานๆ เริ่มวังเวงอย่างบอกไม่ถูกเลยครับ

สภาพบ้านค่อนข้างเก่า (มาก) ประตูหน้าต่าง มุ้งลวด มีช่องว่างให้แมลงเข้ามาได้ ทั้งตัวใหญ่และตัวเล็ก
บ้านหลังนี้มีห้องนอน 3 ห้อง แต่เรามากระจุกตัวนอนบนเตียงเดียวกันนี่แหละ

ปัญหาหนักที่สุดคือ กลางคืนเราปิดไฟที่ห้องนอน แมลงจะได้ไม่มาเล่นไฟในห้องนอน
แต่...ที่ห้องนั่งเล่น และห้องน้ำ เปิดไฟทิ้งไว้ตลอดคืน (แบบว่ากลัวความมืด)
ห้องน้ำบนฝ้ามีรูใหญ่ ตอนเช้า แมลงนับร้อยตัวอยู่ในห้องน้ำ ทั้งตัวเล็ก ตัวใหญ่ ทั้งแบบที่เคยเห็น และไม่เคยเห็น
ห้องรับแขกก็ใช่ย่อย ตัวเป้งๆ เลย

ตื่นมาไม่รอช้า... ล้างหน้าแปรงฟัน (ไม่ต้องอาบน้ำกันละ) Check-out แล้วมุ่งหน้าสู่ บ่อเกลือวิวรีสอร์ท (อย่างหรู) โดยด่วน 555

มีจิ้งจก อยู่บนหัวเตียง 2 ตัวใหญ่ๆ หลังผ้าม่าน แต่ไม่มีใครเห็น ยกเว้นลุงเด้ง
ถ้าอีก 3 คนรู้ งานนี้ บ้านแตก 555

ตอนมาคืนกุญแจ เห็นน้องที่นอนแบบกางเต้น นึกอิจฉา แต่เมื่อคืนก็ฝนตก เช้านี้ก็ฝนตก
นอนเต้นก็คงไม่สะดวกอีกนั้นแหละ ... เพราะห้องน้ำอยู่ไกลเหลือเกิน

อากาศบนอุทยานศรีน่าน เย็นสบาย สดชื่นมากครับ
บอกลาเจ้าป่า เจ้าเขา แล้วออกเดินทางไป ดอยสอยดาว ซึ่งอยู่ไม่ไกล ขับรถไป 20 นาทีก็ถึง
แต่ฝนตก ถนนบางช่วงเป็นดิน ลื่น ต้องขับช้าๆ

ลุงเด้งใช้ ALTIS เพราะนั่งมากัน 4 คน + สัมภาระท้ายรถ บางช่วงมีอืด เร่งไม่ขึ้นเหมือนกันครับ

ดอยเสมอดาว...ฝนตกค่อนข้างจะหนักแล้วครับ หมอกหนา มองไม่เห็นอะไรแล้ว
ออกเดินทางกลับขึ้นเหนือไปบ่อเกลือเลยดีกว่า เพราะจากจุดนี้ไปบ่อเกลือใช้เวลา 4 - 5 ชั่วโมง

ออกเดินทางขึ้นเหนือไปบ่อเกลือ ใช้เวลา 4 - 5 ชั่วโมง เพราะฝนตก ต้องขับช้าๆ ปลอดภัยไว้ก่อน
ตลอดการเดินทาง ใช้ Google Map บอกทางตลอด

อาหารเช้าระหว่างทาง ปุ้มปุ้ย ก๋วยจั๊บญวน
ร้านนี้ตั้งอยู่ติดกับ ตลาดนัดกระเบื้องไดนาสตี้ไทล์ท้อป สาขาน่าน
เลขที่ 215 หมู่ที่ 2 ตำบลดู่ใต้ อำเภอเมืองน่าน น่าน 55000

GPS : 18°43'58.5"N 100°45'15.8"E

เฮ้ย... อร่อยเกินความขาดหมายเลยครับ

เส้นทางมุ่งสู่บ่อเกลือ วิว 2 ข้างทาง สวยงามมากครับ
มีหลายจุดที่อยากจะจอดรถลงไปถ่ายภาพ แต่ก็อาจจะเกิดอันตรายได้
มาเจอจุดนี้ครับ มีไหล่ทางให้จอด ก็เลยลงไปจัดมา 1 ชุด

ตำแหน่ง GPS : 18°58'22.3"N 100°58'24.3"E
จุดเดียวกันกับภาพด้านบน แต่คนละฝั่งถนน

บริเวณนี้เป็นไร่ข้าวโพด ยังต้นอ่อนอยู่เลยครับ

ใกล้เข้าไปอีกนิด... อีกไม่นานก็ถึงบ่อเกลือแล้วครับ

เย้ๆ ๆ มาถึงบ่อเกลือวิวรีสอร์ท แล้วครับ
ว่ากันว่าที่นี่ห้องสวย บรรยากาศดี อาหารอร่อย อืมมมมย์....

การเดินทาง : การเดินทางมาบ่อเกลือวิวรีสอร์ท จากตัวเมืองบ่อเกลือ จ.น่าน มุ่งหน้าไปทางบ้านบ่อหลวง จะเห็นบ่อเกลือวิวรีสอร์ท อยู่ใกล้กับอุทยานแห่งชาติขุนน่าน ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 200 ม.

บ่อเกลือวิวรีสอร์ท
ที่ตั้ง : 209 หมู่1 บ้านบ่อหลวง ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน
เวลา : 10.00 - 21.00 น. (ทุกวัน)
โทร. : 054-778-140 / 081-809-6392
GPS : 19°09'10.4"N 101°09'13.9"E

Welcome Drink เป็นน้ำมะนาว...

ห้องพักที่นี่ เริ่มต้นที่ 1,XXX บาท เท่านั้น http://goo.gl/uJEvZT
ส่วนห้องที่ลุงเด้ง ป้าไก่ พักเป็นห้องที่ดีที่สุด ราคาเริ่มต้นที่ 3,XXX บาท (รวมอาหารเช้า 4 คน)

ตรวจสอบราคาก่อนเดินทางได้ที่ http://goo.gl/uJEvZT

บรรยากาศภายใน บ่อเกลือวิวรีสอร์ท

บ่อเกลือวิวรีสอร์ท มีร้านอาหารอร่อย ชื่อว่า "ปองซา"
ปองซา เป็นภาษาของชนเผ่าลั๊วะ แปลว่า "กินข้าว" ชนเผ่านี้อาศัยอยู่ในอำเภอบ่อเกลือมานาน มีภาษาพูดเป็นของตัวเอง อาศัยอยู่ตามเทือกเขา มีการแต่งตัวที่เป็นเอกลักษณ์ ผู้หญิงจะมัดมวยผม เหมือนเช่นจิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์และวัดหนองบัว

ปองซา เป็นร้านอาหารใน บ่อเกลือรีสอร์ท จังหวัดน่าน เน้นวัตถุดิบที่หาได้จากในท้องถิ่น ไก่พิ้นเมือง ผักกูด มะแขว่น ฟักทอง ข้าวเหนียวดำ และผักปลอดสารพิษที่ชุมชนแห่งนี้เป็นผู้ปลูก

ไก่ทอดมะแขว่น อาหารอร่อยเมืองน่าน กำเนิดขึ้นที่ร้านปองซา แห่งนี้
โดย ดร. ทวน อุปจักร เจ้าของบ่อเกลือ วิว รีสอร์ท ทำเมนูไก่ทอดเกลือ โดยใช้เกลือสินเธาว์ จาก อ. บ่อเกลือ
ในเวลาต่อมา... มะแขว่นเป็นพืชที่ปลูกมากใน อ.บ่อเกลือ จึงมีแนวคิดที่จะแนะนำมะแขว่นให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
จึงได้นำมะแขว่นมาเป็นหนึ่งในส่วนผสมหลักของ ไก่ทอดเกลือ

และนี่คือต้นกำเนิด ไก่ทอดมะแขว่น ที่ขายกันทั่วเมืองน่านอย่างเช่นทุกวันนี้

นอกจากไก่ทอดมะแขว่น (259 บาท) ก็ยังมีอาหารที่ขึ้นชื่ออีกหลายรายการที่ห้ามพลาด ขาหมูเมืองบ่อ (299, 329, 349 บาท) แกงเขียวหวานปลาดุกกรอบ (139 บาท) ฟักทองอบเนย (99 บาท) ปลานิลทอดกระเทียม (259 บาท)

ราคาอาจจะแรงไปนิด ... แต่ลุงเด้ง ป้าไก่ รับประกันเลยครับว่า อร่อยทุกอย่าง

ปองซาจะเสิร์ฟ "ข้าวสีนิล" คือการนำข้าวกล่ำหรือข้าวเหนียวดำ มาหุงกับข้าวหอมมะลิจะได้ข้าวสีนิล ที่มีกลิ่นหอม และไม่แข็งเหมือนข้าวกล้องทั่วไป - ข้าวกล่ำหรือข้าวเหนียวดำ เป็นพืชที่ชนเผ่าลั๊วะ นิยมปลูก เและเพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพ และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับชาวเผ่าลั๊วะ ทางร้านจึงเสิร์ฟเฉพาะ "ข้าวสีนิล" ให้กับลูกค้าเท่านั้น

เที่ยวบ่อเกลือ ต้องมากินเครปเค้กเกลือบ่อวิว (89 บาท) บานาน่า บาน๊อฟฟี่ (99 บาท) ครีมคาราเมล (89 บาท) ป้องกันความผิดพลาดแนะนำให้โทรมาจองล่วงหน้า ของดีมีน้อย วันที่ลุงเด้งป้าไก่ ไปก็เหลือแค่เครปเค้ก กับ เครปเค้กบ่อเกลือเท่านั้น

การเดินทาง : การเดินทางมาบ่อเกลือวิวฯ จากตัวเมืองบ่อเกลือ จ.น่าน มุ่งหน้าไปทางบ้านบ่อหลวง จะเห็นบ่อเกลือวิวรีสอร์ท อยู่ใกล้กับอุทยานแห่งชาติขุนน่าน ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 200 ม.

อิ่ม....อร่อย ช่วงบ่ายเราเดินทางไปยัง “ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา”
“โครงการภูฟ้าพัฒนาตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี” จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบนพื้นที่สูงและใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาต่อไป, เพื่อการส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมกับศักยภาพของราษฎรและพื้นที่บนที่สูง, เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องด้านการตลาด, เพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ศึกษาธรรมชาติ วัฒนธรรมท้องถิ่น และเพื่อการศึกษาวิจัยถ่ายทอดความรู้การพัฒนาและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่ยั่งยืน สู่จุดมุ่งหมาย “ คนอยู่ร่วมกับป่า ”

ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา... ลุงเด้ง ป้าไก่ เดินทางมาในช่วงหน้าฝน เป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวน้อย แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าหนาวแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวมากถึง 1,000 คนต่อวันกันเลย เจ้าหน้าที่บอกว่ามาช่วงนี้ก็ดีแล้วเงียบสงบ เดินชมสวนได้อย่างสบายใจ จุดชมวิวของภูฟ้า เบื้องหน้าสุดตาจะเป็นแนวเขาเขียวชอุ่ม เบื้องล่างจะเป็นแปลงเกษตรกรตัวอย่าง ที่ทางศูนย์จัดสรรให้กับคนในท้องถิ่นได้เข้ามาปลูกพืชในโครงการ โดยร่วมกันศึกษา และถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

อีก 14 ปี ต่อมา... 11 กุมภาพันธ์ 2538 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯเยี่ยมราษฎรและทอดพระเนตร บ่อเกลือสินเธาว์ ณ บ้านบ่อหลวง อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ทรงเห็นสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรที่มีความด้อยโอกาส ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม จึงได้มีพระราชดำริให้สำนักงานโครงการส่วนพระองค์ฯ ดำเนินการช่วยเหลือการพัฒนาในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ โดยเริ่มพัฒนาที่โรงเรียนประถมศึกษาก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจึงขยายไปยังศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ในพื้นที่อ.บ่อเกลือ และอ.เฉลิมพระเกียรติ พร้อมกันนี้ทรงขยายงานพัฒนาด้านอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือครอบครัวของเด็กต่อไป งานโครงการพัฒนาต่างในพื้นที่ทั้งสองอำเภอดังกล่าวจึงมีชื่อรวมกันเรียกว่า “โครงการภูฟ้าพัฒนาตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี”

ต่อมาสมเด็จพระเทพฯ ได้เสด็จมาเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ ทรงเล็งเห็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าอย่างเป็นระบบและเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในสภาพที่เป็นจริงจึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งเวดล้อมภูฟ้า” หรือ “ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา” ขึ้นเมื่อวันที่ 30 พ.ย.2542 โดยกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้น้อมเกล้าฯ ถวายพื้นที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยภูคาและป่าผาแดง จำนวน 1,812 ไร่ 3 งาน 78 ตร.ว. เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2550 เพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการ ไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2580 มีกำหนดระยะเวลา 30 ปี

ในบริเวณเดียวกันนี้ยังมีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มอาชีพ และร้านค้าสวัสดิการ มีสินค้าหลายรายการที่น่าสนใจ และราคาไม่แพง แนะนำให้ซื้อติดมือกลับบ้านมาเป็นของฝาก เพราะรายได้ก็จะกลับไปสู่ชุมชน

ก่อนกลับแวะถ่ายรูปกับไร่ชาอู่หลงในโครงการภูฟ้า

คืนนี้เราพักที่ บ่อเกลือวิวรีสอร์ท ตั้งใจนอนเร็ว และตั้งใจตื่นสาย แบบเนิบๆ เลยครับ
เพราะเที่ยวไป พักผ่อนไป ไม่ต้องรีบ จะได้ไม่เหนื่อย

อาหารเช้าที่ บ่อเกลือวิวรีสอร์ท ถูกใจ เตาปิ้งขนมปังมากๆ เลยครับ
ที่อื่นๆ ใช้ เครื่องปิ้งขนมปัง แต่ที่นี่ใช้เตาถ่าน ไฟอ่อนๆ ใช้ไม้ไผ่เป็นที่คีบ
อะไรมันจะ น่ารักขนาดนี้ แยม เนย น้ำผึ้ง วางอยู่ในหาบ แขวนลอย ... เทใจให้หมดเลยครับ

บุฟเฟ่ต์มีตัวเลือกให้พอสมควรครับ

วันนี้กินขนมปังหลายแผ่น เพราะอยากปิ้งขนมปังบนเตาถ่าน 555

ผลไม้ เค้ก จัดมาครบ

Check-out พร้อมมุ่งหน้าสู่ บ่อเกลือสินเธาว์ภูเขา แห่งเดียวในโลก (เค้าว่าอย่างนั้นนะ)
ตั้งอยู่ไม่ไกลจาก บ่อเกลือวิวรีสอร์ท

บ่อเกลือสินเธาว์โบราณ "บ่อเกลือโบราณบ้านบ่อหลวง. อำเภอบ่อเกลือ อยู่ไม่ไกลจาก บ่อเกลือวิวรีสอร์ท เดิมเรียกว่า "เมืองบ่อ" เพราะในอดีตเมืองนี้มีบ่อเกลือสินเธาว์ มากถึง 7 บ่อ คือ บ่อหลวง บ่อหยวก บ่อเวร บ่อน่าน บ่อกิน บ่อแคะ และบ่อเจ้า แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2 บ่อเท่านั้น เรียกว่าบ่อเกลือเหนือ และบ่อเกลือใต้

บ่อเกลือแห่งนี้อยู่ใกล้ บ่อเกลือวิวรีสอร์ท ขับรถไม่ถึง 5 นาทีก็มาถึง หลังจากที่จอดรถก็เห็นคุณลุงกำลังต้มเกลือ ลุงเด้ง ป้าไก่ ก็ได้เข้าไปสอบถามว่า

ลุงเด้ง : "ทำไมที่น่านถึงมีบ่อน้ำเกลือ อยู่ห่างทะเลตั้ง 5-6 ร้อยกิโลเมตร?"
คุณลุง : "ลุงก็ไม่รู้เหมือนกัน... เค้าบอกกันว่าที่ตรงนี้เมื่อก่อนเป็น... ทะเล"
ลุงเด้ง : "เมื่อก่อนน่านเป็นทะเล???" เกิดอาการ งง ชั่วขณะ...
คุณลุง : "ลุงจะให้ชิมเกลือ... เค็มมั๊ยละ 555 แถวนี้มีสุสานหอยด้วยนะ..."

ขากลับเข้าตัวเมืองน่าน มีป้ายเขียนว่าไปสุสานหอย ... นี่มันเรื่องจริงหรือ???

บ่อเกลือ โบราณบ้านบางบ่อหลวงตามหลักฐานทางธรณีวิทยา ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า ในบริเวณนี้มีการตกตะกอนของน้ำทะเล ในยุคเพอร์เนียน (280 ล้านปีมาแล้ว) ต่อด้วยยุคไทรแอสสิค (230 ล้านปีมาแล้ว) ลุงเด้งคิดว่าน่าจะประมาณยุคของไดโนเสาร์ จูราสสิคนั้นเลยแหละครับ ทำให้เกิดชั้นเกลือหินใต้ดินหรือโดมเกลือหินอยู่ในบริเวณนี้ เมื่อมีการขุดบ่อก็อาจจะบังเอิญไปพบตาน้ำเค็มใต้ดิน ทำให้มีการผลิตเกลือจากบ่อน้ำเค็มเหล่านี้

การผลิตเกลือที่บ้านบ่อหลวง มีการผลิตกันมาตั้งแต่ในสมัยประวัติศาสตร์ ปรากฏชื่อครั้งแรกเมื่อมีการอ้างถึง "บ่อมาง" เมื่อพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ยกทัพมายึดเมืองน่านได้ในปี พ.ศ. 1993 นอกจากนี้ยังมีหลักฐานทางโบราณคดีต่าง ๆ อาทิ เครื่องถ้วย , ศิลาจารึก , พระพุทธรูป ช่วยยืนยันว่า ชุมชนที่ผลิตเกลือที่บ้านบ่อหลวงเจริญรุ่งเรือง อนุมานว่าเป็นระยะที่ 1 เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 หลังจากนั้น ไม่เป็นการแน่ชัดว่ามีชุมชนที่ผลิตเกลือสืบต่อ ๆ มาหรือไม่ เนื่องจากบ้านเมืองในล้านนากำลังวุ่นวายเพราะอยู่ภายใต้อำนาจของพม่า และไม่พบหลักฐานทางโบราณคดียืนยันอย่างแน่ชัด หากแต่จากข้อมูลประวัติชาติพันธุ์ และประวัติศาสตร์บอกเล่า ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเกิดชุมชนในระยะที่ 2 ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 24 และกลุ่มชนเหล่านี้ เป็นบรรพบุรุษของชาวบ่อหลวงในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะเป็นชาวไตลื้อ ที่อพยพมาจากแถบเมืองบ่อแฮ่ ทางตอนใต้ของสิบสองปันนา ซึ่งเป็นเมืองที่มีการผลิตเกลือสินเธาร์เป็นปริมาณมาก โดยมีลักษณะและวิธีการผลิตคล้ายคลึงกัน

คุณลุงยังเล่าวิธีการทำเกลือ โดยการตักน้ำจากในบ่อส่งผ่านมาตามลำไม้ไผ่สู่บ่อพัก เพื่อให้ตกตะกอนแล้วนำน้ำเกลือที่ตักจากบ่อมาต้มในกะทะประมาณ 4-5ชั่วโมงให้น้ำเกลือระเหยแห้ง จากนั้นก็จะนำไม้พายมาตักเกลือใส่ตะกร้าที่แขวนไว้เหนือ กะทะเพื่อให้น้ำเกลือไหลลงมาในกะทะทำอย่างนี้ ไปเรื่อย จนน้ำในกะทะแห้ง หมดแล้วจึงตักน้ำเกลือจากบ่อมาใส่ลงไปใหม่หลังจากนั้น ใส่ถุงวางขาย กันหน้าบ้านเกลือ เมืองน่านไม่มีไอโอดีนเหมือน เกลือทะเลจึงต้องมีการเติมสารไอโอดีนก่อนถึงมือผู้ซื้อ

ช่วงฤดุการท่องเที่ยวคุณลุงบอกว่า ต้มเกลือขายกันไม่ทันเลยในแต่ละวัน แต่พอเป็นช่วงหน้าร้อน หน้าฝน นักท่องเที่ยวน้อยมาก ก่อนกลับอย่าลืมแวะซื้อเกลือกับคุณลุงด้วยนะครับ

จากบ่อเกลือ มุ่งหน้ากลับเข้าตัวเมืองน่าน จะผ่าน อุทยานแห่งชาติดอยภูคา
แต่ช่วงนี้ไม่มีดอกภูคาให้ชมหรอกนะครับ แต่ทางผ่าน ก็แวะไป Check-in ซักภาพ 2 ภาพ ก็ยังดี


ได้ภาพมา 2 ใบ แล้วไปต่อ...

โฮมสเตย์ตานงค์... คือที่ๆ เราจะไปกินข้าว แบบโฮมสเตย์กันครับ
อยู่ที่ บ้านเลขที่ 96 ม.4 บ้านดอนสถาน ต.สถาน อ.ปัว จ.น่าน

มีเพื่อนๆ แนะนำมาว่า โฮมสเตย์ตานงค์ ราคา 450-700 บาท / คืน สวยสะอาด อยู่กลางทุ่งนา
เรียกได้ว่า ห้องหลักร้อย วิวหลายพัน กันเลยครับ

แต่วันนี้แวะมากินข้าวกลางวัน คือต้องสั่งล่วงหน้าถึงได้กินนะครับ
อาหารคิดเป็นรายหัว ก็เลือกได้ตั้งแต่หัวละ 200 หรือ 300 บาท
ส่วนวัตถุดิบในการทำอาหาร ก็ใช้ผักปลอดสารพิษที่ปลูกเองรอบๆ ตัวบ้าน
อาหารจะเป็นอาหารพื้นเมือง แต่อยากกินอะไรเป็นพิเศษก็บอกได้

อย่างวันที่ลุงเด้งไปก็เป็นอาหารพื้นเมือง แต่เด็กๆ กินไม่ค่อยได้ ขอไข่เจียวหมูสับ
เป็นเมนูเพิ่มทางแม่บ้านก็สั่งเด็กไปซื้อหมูที่ตลาด แล้วก็ทอดให้กินแบบไม่คิดเงินเพิ่ม

สนใจสอบถามการเดินทาง และราคาค่าห้องพัก เชิญที่นี่เลย http://www.homestay-tanong.com/

กลับมาถึงตัวเมืองน่านแล้วครับ คืนนี้เรานอนพักกันที่ ภูหรรษา
โรงแรมใหม่ แนวบูทิค อีกแห่งหนึ่งในเมืองน่าน อยู่ไม่ไกลจากสนามบิน
นอนได้ห้องละ 2 คน เรามากัน 4 คนก็ต้อง 2 ห้อง ทางโรงแรมไม่มีเตียงเสริม
ราคาห้องพักเริ่มต้นคืนละ 1400 บาท รวมอาหารเช้า
ตรวจสอบราคาก่อนเดินทางได้ที่ http://www.phuhunsa.com/

อาหารเช้าของโรงแรม ตัวเลือกไม่เยอะมาก แต่ก็พอเพียงกับความต้องการครับ

วันนี้เป็นวันที่ 6 แล้วครับ แผนการเดินทางวันนี้คือ หอศิลป์ริมน่าน แล้วช่วงเย็นจะแวะไปที่ วัดพระธาตุเขาน้อย

ส่วนวันที่ 7 ก็จะไปวัดพระธาตุแช่แห้ง และพุทธสถานม่อนแสงดาว (เพิ่งเปิด แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ นักท่องเที่ยวยังไม่รู้จัก) แล้วก็จะเดินทางกลับกรุงเทพแล้วครับ

หอศิลป์ริมน่าน
หอศิลป์ริมน่าน เป็นหอแสดงงานศิลปะ ก่อตั้งและดำเนินโดยศิลปินชาวน่าน วินัย ปราบริปู บนพื้นที่กว่า 13 ไร่ ริมแม่น้ำน่าน

ตั้งอยู่บนถนนสาย น่าน-ทุ่งช้าง ห่างจากตัวเมืองจังหวัดน่านไปประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นแหล่งรวมศิลปะและ วัฒนธรรมของจังหวัดน่าน

หอศิลป์แห่งนี้ได้มีการรวบรวมงานศิลปะร่วมสมัยมาจัดแสดง หมุนเวียนกันตลอดทั้งปีไว้
ค่าเยี่ยมชมหอศิลป์ริมน่าน คนละ 20 บาทเท่านั้น

ภายในพื้นที่หอศิลป์มีอาคาร 2 หลัง หลังแรกเป็นอาคาร 2 ชั้น ขนาดใหญ่ที่ชั้นล่างจัดแสดงนิทรรศการ ขนาดใหญ่ รองรับภาพไม่ต่ำกว่า 80-100 ภาพ เพราะฉะนั้นนิทรรศการที่มาจัดแสดงบริเวณนี้จึงเป็นนิทรรศการระดับชาติหรือ เป็นศิลปินที่ต้องมีภาพจำนวนมากมาจัดแสดง ชั้น 2 จัดแสดงผลงาน และที่พักอาศัยของอ.วินัย ส่วนอีกอาคารหนึ่ง แต่เดิมเป็นห้องสตูดิโอเก่าของอ.วินัย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านแวดล้อมร่มรื่นด้วยพรรณไม้นานา แต่ตอนนี้ปรับเป็นห้องแสดงภาพที่เปิดโอกาสให้คนที่ไม่เคยได้แสดงภาพมาก่อนได้นำภาพมาจัดแสดง ไม่ว่าจะ เป็น นักเรียน นักศึกษา และศิลปินเพื่อเป็นกำลังใจให้แก่คนทำศิลปะด้วย แต่ภาพที่นำมาแสดงจะต้องมีลักษณะ โดดเด่น และดึงดูดในตัวของมันเอง ซึ่งมีทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และสื่อผสมต่างๆ ที่เป็นศิลปะร่วมสมัยทั้งสิ้น ภาพที่จัดแสดงส่วนมากมักจะจัดแสดงเพียงเพื่อให้ผู้ชมได้เข้าถึงศิลปะ เหมือนได้ไปพบปะเพื่อนใหม่ที่ชื่อศิลปะ ให้มากขึ้น นอกจากนี้หอศิลป์ริมน่านก็ถือได้ว่าเป็นสถานที่รวมพลังของคนน่านเช่นกัน เพราะเมื่อมีการจัดกิจกรรม เปิดงานศิลปะ ก็จะมีภาคส่วนต่างๆ ของจังหวัดน่านเข้ามาร่วมด้วย เช่น ศูนย์ประสานงานประชาคม ซึ่งก็เหมือนกับ ว่าหอศิลป์ และส่วนอื่นๆ ของจังหวัดได้ช่วยกันทำเพื่อสังคม และประชาชนก็จะเข้ามาสนับสนุนหอศิลป์ ซึ่งก็ได้ ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองทาง

อาจารย์วินัยเล่าถึงที่มาของภาพฝีพระหัตถ์ทั้งสองภาพว่า...
วันที่ 19 มกราคม 2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไปเรือนจำจังหวัดน่าน ทรงเขียนภาพ "กระซิบ"
ขนาดภาพ 50x70 เซนติเมตร พระราชทานให้กับเรือนจำชั่วคราว เขาน้อย จังหวัดน่าน

ตอนบ่าย เสด็จฯไปหอศิลป์ริมน่าน ทอดพระเนตรภาพเขียน "กระซิบ" ที่ผมเขียนเป็นฝรั่งกระซิบ

ท่านตรัสว่า "อ้าว ภาพเวอร์ชั่นใหม่ เมืองน่านมีแต่ภาพ "กระซิบ" เมื่อเช้าได้เขียนภาพกระซิบไว้" อาจารย์วินัยบอก และว่า ทางหอศิลป์เราเตรียมผ้าใบและสีเมจิกไว้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงวาดภาพผู้ชายไว้ผมทรงโมฮอว์ก และผู้หญิงใส่ผ้าถุงทำท่าเอามือป้องหูเหมือนรับฟัง และเขียนอักษร "ตะโกน"

พระสหายกลุ่มที่มาด้วยได้มาถ่ายรูป ท่านทรงอธิบายว่า...
"ต้องตะโกนกัน เพราะกระซิบไม่ได้ยินแล้ว อายุมากกันแล้ว"
สักพักพระองค์ทรงชี้ที่ผ้าถุงของผู้หญิง ตรัสว่า "ลายน้ำไหลเมืองน่าน" ส่วนผู้ชายหัวโล้นที่มีผมข้างบน ตรัสว่า "ทรงโมฮอว์ก"

ข้อความจาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1333342940

ช่วงบ่าย แวะมาที่ วัดพระธาตุเขาน้อย จุดชมวิวที่สวยที่สุดแห่งวิวล้านนาตะวันออก

ตั้งอยู่ที่ ต.ดู่ใต้ อ. เมืองน่าน อยู่บนดอยเขาน้อย มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 250 เมตร หน้าวัดเป็นทางขึ้นเป็นบันไดนาค 303 ขั้น (ถ้าเดินไม่ไหวก็มีเส้นทางขับรถขึ้นไปได้นะครับ) เมื่อขึ้นไปยืนบนยอดเขาจะมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองน่านได้อย่าชัดเจน สร้างโดยมเหสีรองของ พญาภูเข็ง เจ้าผู้ครองนครน่าน และได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ในส่วนขององค์พระธาตุโดยตลอด จนกระทั่งมีการบูรณะครั้งใหญ่ ในสมัย พระเจ้าสุริยพงษ์ผริเดชฯ โดยช่างชาวพม่า ชื่อหม่องยิง ทางด้านกรมศิลปากรได้ทำการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2523

ด้วยความเป็นวัดที่อยู่บนเขาสูง จุดชมทิวทัศน์ที่สวยงามอยู่ตรงลานปูน พระพุทธรูปปางลีลาองค์ใหญ่ คือพระพุทธมหาอุตมมงคลนันทบุรีศรีเมืองน่าน สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2542 ถือเป็นจุดเดียวที่มองเห็นเมืองน่านจากมุมสูง จุดนี้ยังแสดงให้เห็นถึงลักษณะการตั้งเมืองของภาคเหนือ ที่มักเลือกทำเลที่ตั้ง บนที่ราบลุ่ม และหุบเขา วัดพระธาตุเขาน้อย เป็นปูชนียสถานที่สำคัญและเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของ จ.น่าน สันนิษฐานว่ามีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพระธาตุแช่แห้ง

ตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า... พระพุทธเจ้าเข้าได้เสด็จขึ้นมาประทับบนยอดดอยประทับนั่งอยู่ใต้ต้นมะคับทองของตาายายที่ทำไร่อยู่ข้างๆ ดอยแห่งนี้ ขณะที่ตา (อนันทะ) เดินออกไปทำไร่เห็นพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ก็ตกใจกลัว จึงรีบวิ่งกลับบ้านไปบอกยาย (นางเอื้อน) ว่ามียักษ์มานั่งอยู่ในไร่ของเราใต้ต้นมะคับทอง ยายจงเอาฟักแพงแตงเต้าไปให้มันเถอะ ส่วนตาเดินตามหลังในมือถือหอกหากว่าพวกยักษ์จะทำร้ายยาย ตาก็จะออกไปช่วยโดยมีหอกเป็นอาวุธ

พระพุทธเจ้ารู้ว่า ณ ที่แห่งนี้จะเป็นศูนย์รวมพระศาสนาจึงมอบพระเกศา 2 เส้น ส่งให้พระอานนท์ ๆ รับไว้ และบอกกับยายว่า ให้ส่งเต้าปูนทองแดงมาให้ พระอานนท์ก็อธิฐานให้พระเกศาของพระพุทธเจ้าเข้าไปสถิตในเต้าปูนทองแดง แล้วส่งกลับคืนไปให้ยาย หลังจากนั้นตายาย ก็นำเต้าปูนทองแดงที่ได้ไปฝังไว้ใต้ต้นมะคับทองที่พระพุทธเจ้านั่งประทับแล้วทั้ง 2 ก็กลับบ้านโดยที่ไม่ไปไร่นั้นอีกเลย

ต่อมาพระพทธเจ้าได้เสด็จกลับมาที่ไร่ของตายาย แล้วตรัสพยากรณ์ว่า
“เมื่อตถาคตมาถึงเมืองนี้ แล้วขึ้นไปบนเขานั้น สองผัวเมียคิดว่าเราเป็นยักษ์แล้ว ได้แบกหอกเดินตามหลังเมียมาเพื่อว่าจักแทงยักษ์ถ้าเมียถูกจับกิน เมื่อทั้งสองตายไปแล้วจักไปเกิดบนสวรรค์จนศาสนาล่วงไปจักได้เกิดมาเป็นพระยาเมืองนี้ จักมีนิสัยใจกล้าหาญ ชอบหอกดาบปืนผาหน้าไม้ และช้างม้ามากนักแล ส่วนนางผู้นั้นได้มาเป็นเมียน้อย และจักได้ก่อสร้างพระเกศาธาตุ ของพระตถาคต แล้วจักได้ชื่อว่า พระธาตุเขาน้อย ดังนี้แล..."

พระพุทธองค์ทรงหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก
ซึ่งเป็นที่ตั้งตัวเมืองน่านในปัจจุบันแล้วตรัสว่า “ต่อไปสถานที่นี้
จะเป็นที่ตั้งของเมืองมีชื่อว่า “นันทบุรี” พระพุทธศาสนาจะมาเจริญรุ่งเรืองในอาณาเขตนี้แล้วจะสามารถรักษาพระพุทธศาสนาไว้ครบ ห้าพันปี...”

ช่วงเย็น อยากเปลี่ยนบรรยากาศมากินอาหารจีนบ้างแล้วละครับ
พื้นเมืองกันมาตลอดทริปเลย มีร้านอร่อยอยู่ 1 ร้าน ฮั้วเลิศรส สาขาใหม่ (ใกล้สำนักโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดน่าน)

ร้านข้าวต้มชื่อดังของเมืองน่าน รสชาติอาหารที่คงความอร่อยที่คงเส้นคงวาอย่างสม่ำเสมอในราคาไม่แพง ทำให้โต๊ะเต็มเกือบทุกวันบริหารงานโดยคุณเดชา ศิรนรเศรษฐ์ เจ้าของร้านที่ใส่ใจในความสด สะอาดของวัตถุดิบในการปรุงอาหารด้วยตัวเอง

ฮั้วเลิศรส สาขาใหม่
ที่ตั้ง : 123 หมู่ 2 ต.ฝายแก้ว อ.ภูเพียง จ.น่าน
เวลา : 17.00 - 24.00 น. (ทุกวัน)
โทร. : 089-999-9141 089-999-9124
GPS : 18°46'03.0"N 100°46'50.7"E

มาเที่ยวน่าน พาเด็กๆ มาด้วย เรื่องอาหารการกินนั้นก็สำคัญ เมืองน่านส่วนมากจะเป็นร้านอาหารพื้นเมือง มาเที่ยวหลายวันเจอแต่อาหารพื้นเมือง เด็กๆ อาจจะเบื่อได้ ฮั้วเลิศรส เป็นร้านอาหารจีนตามสั่งมีรายการอาหารให้เลือกมากกว่า 100 รายการ (เยอะมากๆ) อาหารจีนรสชาติดี ไม่ถึงกับระดับเหลา แต่ก็อร่อยได้มาตรฐานทุกจาน ที่สำคัญราคาก็เริ่มต้นที่ 50 บาทขึ้นไป

ตัวอย่างราคาอาหารที่ลุงเด้ง ป้าไก่ สั่งมากินในมื้อนี้ มีแต่เมนูถูกใจเด็กๆ ไก่ทอดเกลือ (60 บาท) หมูทอดกระเทียม (60 บาท) หมูผัดเห็ดหอมน้ำมันหอย (70 บาท) ยำเห็ดเข็มทอง ( 80 บาท) ปลาทับทิมฉ่าน้ำปลา (170 บาท) ยำไข่เค็ม (50 บาท) รายการอาหารอื่นๆ ก็ราคาไม่ต่างไปจากนี้เท่าไหร่นัก

วันสุดท้าย แล้วครับ
พระธาตุแช่แห้ง และพุทธสถานม่อนแสงดาว จบ 2 ที่นี้ ก็ปิดทริปน่านได้โดยสมบูรณ์แบบ

วัดพระธาตุแช่แห้ง (พระธาตุประจำปีเกิดปีเถาะ) พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดน่าน เดิมเป็นวัดราษฎร์ องค์พระธาตุเป็นที่ประดิษฐาน พระเกศาธาตุและ พระบรมธาตุข้อพระหัตถ์ข้างซ้าย ตั้งอยู่บนเนินเขาลูกเตี้ย ๆ เป็นสีทอง สามารถมองเห็นได้แต่ไกล สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์ของความรักและความสัมพันธ์ ระหว่างเมืองน่านกับเมืองสุโขทัยในอดีต รูปแบบขององค์พระเจดีย์เป็นแบบล้านนาได้รับอิทธิพลจากเจดีย์พระธาตุหริภุญไชย ผสมกับศิลปะพม่า ใช้แผ่นทองเหลืองบุรอบฐาน แล้วลงรักปิดทอง ตัวพระธาตุ ตั้งอยู่บนเชิงเนินปูด้วยอิฐลาดขึ้นไปยังยอดเนิน กว้างประมาณ 20 วา มีบันไดขนาบทั้งสองข้าง

วิหารหลวงอยู่ทางทิศใต้ขององค์พระธาตุ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ลักษณะของวิหารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าสี่ด้าน ที่ประตูทางเข้าด้านหน้ามีปูนปั้นรูปสิงห์สองตัวตามแบบศิลปะพม่า เหนือกรอบประตูด้านหน้าและหลังประดับลายปูนปั้นเป็นรูปนาคเกี่ยวกระหวัดกันแปดตัว หลังคาทรงจั่วซ้อนลดหลั่นสามชั้นตามแบบล้านนา ที่น่าสนใจคือ ตรงกลางสันหลังคาทำเป็นส่วนหางของนาคสองตัวเกี่ยวกระหวัดกันขึ้นไปเป็นสามชั้น เป็นศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากล้านช้างที่งดงามและหาดูได้ยากในปัจจุบัน

ตอนที่ลุงเด้ง ป้าไก่ ไปสักการะพระธาตุแช่แห้ง มีเจ้าหน้าที่แนะนำว่า เคยไปพุทธสถานม่อนแสงดาวหรือยัง???

เจ้าหน้าที่ก็พาไปดูป้ายที่เขียนไว้ว่า พระพุทธรูปองค์ใหญ่ (ม่อนแสงดาว)
ศูนย์ปฏิบัติธรรมม่อนแสงดาว ตั้งอยู่ในตำบลเมืองจัง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดใน
จังหวัดน่าน
เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนาแห่งใหม่ และยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก พระพุทธรูปองค์กลางมีขนาดใหญ่ที่สุด สูง 17 เมตร หน้าตักกว้าง 10 เมตร

พร้อมบอกเส้นทางให้ลุงเด้ง ป้าไก่ แบบชัดเจน จากวัดพระธาตุแช่แห้งขับไปไม่เกิน 30 นาทีก็ถึง
และยังบอกอีกว่า ก่อนถึงจะเห็นองค์พระใหญ่ เด่นชัดไม่มีหลงแน่นอน
GPS : 18°53'17.6"N 100°50'06.0"E

มีคนบอกมาแล้ว... งานนี้ไม่พลาดครับ เป็นสถานที่ๆ ลุงเด้ง ป้าไก่ ไม่ได้วางแผนไว้
เย็นนี้ก็ต้องขึ้นเครื่องกลับกรุงเทพ อะไรผิดจากแผนที่วางไว้ ส่วนมากจะปฏิเสธทั้งหมด
แต่งานนี้ ไม่รู้ยังไง ไปก็ไป...
พระพุทธรูปองค์ใหญ่ (ม่อนแสงดาว) ศูนย์ปฏิบัติธรรมม่อนแสงดาว จากวัดพระธาตุแช่แห้ง ตามแผนที่ 30 นาที
ออกเดินทางกันเลยครับ

ระหว่างทาง มีน้องๆ ขี่จักรยานถือต้นกล้า พร้อมอุปกรณ์ขุดดินปลูกต้นไม้ หลายสิบคัน วิ่งกันเป็นทางยาวเลยครับ
ลุงเด้ง ป้าไก่ ก็ปรึกษากันว่า เดี๋ยวเราไปช่วยเค้าขุดดินปลูกต้นไม้กันด้วยดีกว่า...

แล้วน้องๆ ก็หยุดลงที่บริเวณลานกว้างๆ แล้วก็ลงมาขุดดินปลูกต้นกล้า ลุงเด้ง ป้าไก่ ก็เลยจอดรถ แล้วก็ลงไปช่วยน้องๆ กันอย่างสนุกสนาน หลังจากปลูกได้ 3 ต้น ลุงเด้งมองไปที่ป้ายทางเข้า...

"พุทธสถานม่อนแสงดาว วัดหาดเค็ดล่าง ต.เมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน"

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับ... เหมือนมีคนบอกให้เรามาช่วยปลูกต้นไม้ที่วัดนี้เลยอ่ะ รู้สึกดีจริงๆ

มีคนบอกลุงเด้ง ป้าไก่ให้มา พุทธสถานม่อนแสงดาว วัดหาดเค็ดล่าง ต.เมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน
ก็ถือโอกาสนี้บอกต่อกันอีกครั้งให้เพื่อนๆ ที่มาเที่ยวน่าน แวะมาที่ พุทธสถานม่อนแสงดาว ด้วยนะครับ

กลับโรงแรม อาบน้ำ แล้ว Check - Out ลุงเด้ง ป้าไก่ ต้องแวะชิมร้านอร่อยอีก 2 ร้าน

เฮือนญิ๋ง-จาย ก๋วยเตี๋ยวกะลา สูตรโบราณ
ที่ตั้ง : ถ.สุมนเทวราช อ.เมือง จ.น่าน
เวลา : วันจันทร์-วันศุกร์ 17.00 - 21.00 น.
วันเสาร์-วันอาทิตย์ และ วันหยุดนักขัตฤกษ์ : 11.00 - 20.00 น.
โทร. : 086-9104622
GPS : 18°47'08.9"N 100°46'52.1"E

พี่มะลิวัลย์เจ้าของร้าน ให้บริการความอร่อยมาตั้งแต่มี 2556 ร้านเล็กๆ บรรยากาศดี จะนั่งกินในร้าน หรือด้านนอกริมรัว เลือกนั่งกันได้ตามอัธยาศัย
เมนูเด่นที่ห้ามพลาดของร้านนี้ ก๋วยเตี๋ยวหมูต้มยำ (30 บาท) เสริ์ฟร้อนๆ ในถ้วยกะลาใบใหญ่มีเข้ม เพิ่มสีสรรให้น่ากินมากยิ่งขึ้น รสชาติจัดจ้าน หอมถั่วลิสงที่คั่วที่โรยหน้ามาในชามกะลา สั่งเกี๊ยวกรอบ (15 บาท) มากินกับก๋วยเตี๋ยวต้มยำอร่อยยิ่งนัก

เฮือนญิ๋ง-จายยังมีก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น (30 บาท) ก๋วยเตี๋ยวน้ำตก (30 บาท) สุกี้หมู น้ำ/แห้ง (35 บาท) เย็นตาโฟหมูต้มยำ (30 บาท) ก็อร่อยไม่แพ้กัน

เมนูอร่อยเหนือความคาดหมาย ...
สาคูไส้หมู (20 บาท) ลูกโตๆ ใส้เยอะ เหนียวนุ่ม เคี้ยวอร่อย ถูกใจเป็นที่สุด
หมูสะดุ้ง (50 บาท) เนื้อหมูหมักลวก ราดน้ำยำ กินกับคะน้าสด เนื้อหมูนุ่มมากๆ
ขนมถ้วยกระทิใบเตย (20 บาท) รสชาตินุ่มนวล เนื้อขนมแข่งกว่าร้านอื่นๆ ที่เคยกิน

แหนมสุณีร้านขายอาหารพื้นเมืองขนมจีนน้ำเงี้ยว ข้าวซอย มีดีที่จิ้นส้มหม้อ (แหนมหมู) จัดเป็นอีก 1 ของฝากจากเมืองน่าน เพราะอร่อยล้ำเกินคาด ลุงเด้ง ป้าไก่ คิดว่าแหนมอร่อยต้อง เชียงใหม่ เชียงราย หรือจังหวัดในภาคอีสาน ไม่คิดว่าน่านจะมีแหนมหมูอร่อย แม่ครัวเห็นลุงเด้ง ป้าไก่ เป็นนักท่องเที่ยวเลยบอกว่า "ข้าวผัดแหนม ร้านนี้อร่อยนะค่ะ" ลองแล้วจะต้องซื้อแหนมติดมือกลับบ้านทุกคน!!!

แม่ครัวส่งเทียบเชิญมีหรือจะขัดใจ ขนมจีนน้ำเงี้ยว (30 บาท) ข้าวซอยไก่ (30 บาท) ขนมจีบหมู (30 บาท) ข้าวผัดแหนม (30 บาท) จัดมาให้ครบงานนี้ดูซิว่าจะได้แหนมกลับไปเป็นของฝากหรือป่าว???

ข้าวซอยไก่ ของร้านนี้เป็นสูตรโบราณจากเมือง เชียงแสน จังหวัดเชียงราย รสชาติหนักเครื่องเทศ ข้นน้ำกระทิ เด็กๆ กินได้ไม่เผ็ด สำหรับผู้ใหญ่ชอบรสชาติจัดจ้านต้องใส่ผักกาดดอก พริก มะนาว รสชาติจะต่างจากข้าวซอยร้านอื่นๆ ต่างกันแบบไหน ต้องมาลองเองนะครับ

ข้าวผัดแหนม เมนูที่แม่ครัวท้าให้ลอง ใช้จิ้นส้มหม้อ (แหนมหมู) 1 ลูก หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วผัดในน้ำมัน ให้สุก ตอกไข่ ใส่ข้าว แล้วปรุงรส ทำออกมาได้น่ากินมาก หลังจากที่ได้ชิม...ซื้อแหนมหมูกลับบ้าน 12 ลูก (100 บาท) เอามาทำข้าวผัด+ กับ ไข่เจียวแหนม ที่กรุงเทพ งานนี้เสร็จแม่ค้า 555

ขนมจีนน้ำเงี้ยว ร้านนี้มีเส้นให้เลือกหลายอย่าง จะใส่เส้นขนมจีน เส้นก๋วยเตี๋ยว หรือเส้นหมี่ขาวก็ได้

ขนมจีบหมู ก๋วยเตี๋ยวหลอดรสชาติย้อนอดีต เหมือนย้อนเวลากลับไปเป็นเด็กที่กินของอร่อยในโรงเรียน

แหนมสุณี มีให้เลือกซื้อ 4 ชนิดคือ แหนมเล็ก แหนมใหญ่ แหนมหม้อ แหนมซี่โครง จุดเด่นแหนมเนื้อแน่น กินสดๆ เคี๊ยวสนุกอร่อยเต็มปาก ถ้านำไปปรุงอาหารจะไม่แฉะ ซื้อไปแล้วเก็บได้นานถึง 1 เดือน

ได้เวลากลับบ้านแล้วครับ
เพื่อนๆ ที่อ่านมาถึงหน้านี้ได้ ... ถือว่าสุดยอดเลยครับ
เพราะรีวิวนี้ ยาวมากๆ ใช้เวลาทำรูปหลายวัน และใช้เวลาเขียนรีวิวตั้งแต่เช้า ยันตี 1 กันเลย

ขอบคุณที่ติดตามชมกันมาตลอด พบกันใหม่เร็วๆ นี้

ลุงเด้ง ป้าไก่ หวังว่าข้อมูลนี้จะพอเป็นแนวทางให้เพื่อนๆ เที่ยวน่าน ได้สนุกมากขึ้น
เพื่อนๆ ที่มี Facebook สามารถส่งกำลังใจให้ ลุงเด้งป้าไก่ โดยการกด "โหวต" ได้ที่...
http://www.thethailandbloggernetwork.com/teams/detail/T07
The amazing journey blogging contest




Leave a comment